นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) เปิดเผยว่า ล่าสุดบริษัทได้จัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ คือ บริษัท ชโย เจวี จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน และ /หรือ ร่วมลงทุนในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และ / หรือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเริ่มแรกถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ บริษัท ชโย เจวี จำกัด
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหากบริษัทสามารถเจรจากับผู้ลงทุนได้ก็จะเปิดให้เข้ามาถือหุ้นในบริษัทย่อยดังกล่าว โดยบริษัทจะยังคงถือหุ้นใหญ่ไม่ต่ำกว่า 55% คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงไตรมาส 1/64 และจะใช้งบลงทุนราว 1,500-2,000 ล้านบาทในการซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารเพิ่มเติม
ขณะที่ทิศทางผลประกอบการในปี 64 บริษัทคาดว่ารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 25% จากปี 63 โดยเป็นผลมาจากการเก็บหนี้ได้มากขึ้น และการรับซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารเพิ่มเติม โดยเฉพาะหนี้จากสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าปีหน้าจะมีหนี้เสียในระบบสูงถึง 600,000 ล้านบาท แต่สถาบันการเงินน่าจะขายออกมาราว 300,000 ล้านบาท จากปีนี้ที่อยู่ในระดับราว 530,000 ล้านบาท
บริษัทวางงบลงทุนไว้ราว 1,200 ล้านบาทเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ (หนี้เสีย) จากสถาบันการเงินเข้ามาบริหารในพอร์ตเพิ่ม ซึ่งคาดว่าน่าจะซื้อเข้ามาในมูลหนี้มากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากการออกหุ้นกู้ เงินทุนหมุนเวียน และ เงินกู้จากสถาบันการเงิน จากในปีนี้ซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่มอีก 15,500 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นปีนี้จะมีหนี้ด้อยคุณภาพภายใต้การบริหารไม่น้อยกว่า 63,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน 37,950 ล้านบาท และ หนี้ที่มีหลักประกัน 15,564 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจปล่อยสินเชื่อในปี 64 วางเป้าหมายยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่เติบโต 100% หรือคิดเป็นสินเชื่อ 140 ล้านบาท จากสิ้นปี 63 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 60-70 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ปัจจุบันยังมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่มองว่าเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ โดยบริษัทจะเน้นการลงทุนและใช้งบลงทุนด้านการตลาดอย่างระมัดระวัง และยืนยันว่าจะไม่ให้มีผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทมากเกินไป
สำหรับการย้ายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันนี้เป็นวันแรก เชื่อว่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนสถาบันให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัทมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศราว 4-5 รายที่ถือหุ้นอยู่ราว 1% เท่านั้น