ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) แจ้งว่าธนาคารเตรียมสำรองเงินสดจำนวน 15,240 ล้านบาท เพื่อรองรับการเบิกถอนเงินของลูกค้าและประชาชนทั่วไปผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม และสาขาของธนาคารทั่วประเทศ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ? 3 มกราคม 2564 ทั้งนี้ แบ่งเป็นเงินสดสำรองสำหรับบริการผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 11,052 ล้านบาท และช่องทางสาขาของธนาคารจำนวน 4,188 ล้านบาท
ปัจจุบัน (ณ เดือนพ.ย.63) ธนาคารมีสาขาจำนวน 632 สาขา และเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 6,121 เครื่องทั่วประเทศ
ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) แจ้งว่าธนาคารสำรองธนบัตรช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 เพื่อรองรับการใช้บริการของลูกค้าจำนวน 63,000 ล้านบาท โดยเป็นการสำรองเท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนเริ่มมีการจับจ่ายเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเน้นการท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงปีใหม่ แบ่งเป็น ตู้เอทีเอ็ม จำนวน 45,000 ล้านบาท และสาขา จำนวน 18,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน (ณ เดือนพ.ย.63) ธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 860 สาขา มีเครื่องเอทีเอ็มรวม 11,926 เครื่อง
ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แจ้งว่าเตรียมสำรองเงินสดสำหรับให้บริการในสาขาและเครื่องเอทีเอ็ม เพื่อรองรับการใช้จ่ายช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ 28 ธันวาคม 2563 ? 1 มกราคม 2564 รวมทั้งสิ้น 36,800 ล้านบาท ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น การสำรองเงินสดผ่านช่องทางสาขา จำนวน 10,500 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 4,500 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาคจำนวน 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมี 860 สาขา ทั่วประเทศ
สำหรับการสำรองเงินสดเพื่อเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) ที่มีอยู่จำนวนกว่า 8,200 เครื่องทั่วประเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 26,300 ล้านบาท แบ่งเป็น การสำรองเพื่อบรรจุเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 14,000 ล้านบาท และเอทีเอ็มในเขตภูมิภาคจำนวน 12,300 ล้านบาท
ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แจ้งว่าในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ? วันที่ 3 มกราคม 2564 ธนาคารได้ดำเนินการสำรองเงินสดไว้ให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มเติมจากภาวะปกติโดยรวมทั้งสิ้นประมาณ 50,000 ล้านบาท ผ่านช่องทางบริการเอทีเอ็มที่มีเกือบ 10,000 จุดทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารที่พร้อมอำนวยความสะดวกและให้สามารถทำรายการธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น เครื่องบัวหลวงเอทีเอ็ม (ATM) เครื่องบัวหลวงรับฝากเงินสดอัตโนมัติ (CDM) บริการบัวหลวงไอแบงก์กิ้ง (Bualuang iBanking) และบริการโมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ (Bangkok Bank Mobile Banking) บริการบัวหลวงโฟน โทร. 1333 หรือ 0-2645-5555 รวมถึงบริการรับชำระสินค้าและบริการผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) เป็นต้น
สำหรับช่วงวันหยุดดังกล่าวลูกค้าสามารถใช้บริการทางการเงินของธนาคารกรุงเทพได้ที่สาขาไมโครภายในห้างสรรพสินค้าและจุดชุมชนกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ยกเว้นสาขาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งยังเปิดให้บริการเป็นปกติ ภายใต้มาตรฐานด้านสุขอนามัยเพื่อร่วมป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สาขาทั่วประเทศจะเปิดทำการเป็นปกติตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการดูแลและเพิ่มความถี่ในการจัดเตรียมเงินสดในตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในจุดท่องเที่ยวทั่วประเทศเป็นกรณีพิเศษ ภายหลังที่ประชุมศบค. มีมติเห็นชอบ กำหนดแบ่งพื้นที่ควบคุมตามสถานการณ์ โดยไม่มีมติให้ล็อกดาวน์ประเทศ เพราะฉะนั้นลูกค้าของธนาคารจึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถเบิกถอนเงินสดสำหรับใช้จ่ายในช่วงเทศกาลดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ ตลอดจนดูแลธุรกรรมให้ดำเนินการได้อย่างราบรื่น