นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจปี 64 บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 5 หมื่นล้านบาทเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือ และดีลโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ราว 900-1,000 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะมาจากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่จะมีการเข้าซื้อกิจการและร่วมลงทุน (M&A) และการร่วมลงทุนใหม่ คาดว่าจะทยอยปิดดีลได้หลายโครงการตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/64
"งบลงทุน 5 หมื่นล้านบาท สำหรับใช้สำหรับพัฒนาโครงการในปัจจุบันและที่จะได้มาในอนาคตของทั้งปี ซึ่งจะมาจากทั้งดีล M&A ที่จะรับรู้รายได้เข้ามาทันที และการลงทุนสร้างโครงการใหม่ ๆ คงจะต้องใช้เวลาก่อสร้าง 1-2 ปี"นายลิงค์ กล่าว
นายลิงค์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 3,682 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3,089 เมกะวัตต์ และมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่องไปสู่เป้าหมาย 7,200 เมกะวัตต์ภายในปี 68 ขณะที่ในไตรมาส 1/64 มีแผนจะเปิดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 16 เมกะวัตต์ที่ จ.มุกดาหาร
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างทำดีล M&A โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในมาเลเซีย ขนาด 200-350 เมกะวัตต์ ซึ่ง COD แล้ว และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในไทย 2-3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 300-360 เมกะวัตต์ คาดว่าจะปิดดีลได้ในราวไตรมาส 1/64 ซึ่งก็จะรับรู้รายได้เข้ามาทันที
รวมถึงยังมีดีลเจรจาเพื่อร่วมทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม 1-2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 100-200 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องบรรลุดีลให้ได้ในต้นปี 64 เพื่อให้สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จตามกำหนด COD ในปลายปี 64 และดีลเจรจาร่วมทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเกาหลีใต้ คาดว่าจะปิดดีลได้ในช่วงไตรมาส 1/64
ขณะเดียวกันยังมีโอกาสการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ จากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในเวียดนาม ในรูปแบบ LNG to Power ราว 2,000-3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 64
บริษัทยังมีแผนจะร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อขยายโอกาสการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างล่าสุดมีความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท พีอีเอ เอ็มคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกฟภ. เพื่อเข้ามาช่วยพัฒนาโครงข่ายและสายส่ง ช่วยสร้างเครือข่ายและต่อยอดธุรกิจไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น รวมถึงมองโอกาสการพัฒนาโครงการระบบไมโครกริด ระบบสมาร์ทไมโครกริดต่าง ๆ ในอนาคตด้วย
นายลิงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการนำเข้า LNG หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้นำเข้า LNG จำนวน 6.5 แสนตัน/ปี โดยบริษัทคาดว่าจะเริ่มนำเข้า LNG เข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี 64 ราว 2.5 แสนตัน และเพิ่มเป็น 3.5 แสนตัน ในปี 65 และเพิ่มเป็น 6.5 แสนตัน ในปี 66 ซึ่งการนำเข้าดังกล่าว จะใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 5 โรง ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ยื่นเรื่องไปยังกกพ.เพื่อขอเพิ่มการนำเข้า LNG สำหรับรองรับการใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า SPP อีกจำนวน 13 โรงด้วย
นอกจากนี้ยังมองโอกาสต่อยอดการนำเข้า LNG เพื่อขายให้กับลูกค้าในโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีความต้องการใช้ LNG รวมถึงการนำ LNG ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอื่น นอกเหนือจากการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และยังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เพราะเชื่อว่าการนำเข้า LNG ของบริษัทจะทำได้ราคาต่ำกว่าของ บมจ.ปตท.(PTT) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับผู้จำหน่าย LNG ตลาดโลกราว 20 ราย โดยวางแผนจะทำสัญญาระยะยาวราว 70-80% และตลาดจร (spot) ราว 20% อย่างไรก็ตามหากจะดำเนินการดังกล่าวก็จะต้องยื่นเรื่องไปยังกกพ.ขอนำเข้าเพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ด้วย
ส่วนการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในไทยนั้น เชื่อว่ากำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมจะไม่ลดลงเหมือนในช่วงแรกที่พบการระบาดที่ทำให้ช่วงเดือนพ.ค.63 ภาคอุตสาหกรรมลดการผลิตลงราว 20% เนื่องจากขณะนี้มีความตื่นตัวมากขึ้น และกลุ่มลูกค้าอิเล็กทรอนิกส์มีการย้ายฐานการผลิตมาไทยที่สามารถคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ดีในช่วงที่ผ่านมา
ประกอบกับลูกค้าหลักของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มยานยนต์ ราว 57% ก็มีปริมาณการขายที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน รวมถึงลูกค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์ก็ยังดีต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ของบริษัทส่วนใหญ่ยังมาจากลูกค้าในกลุ่มภาครัฐทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ราว 70-80% ส่วนที่เหลืออีก 20% มาจากรายได้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม
นายลิงค์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งนอกเหนือจากธุรกิจไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศแล้ว ยังมุ่งไปสู่ธุรกิจต่อเนื่องรองรับดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นด้วย