PODCAST: Weekly Highlight (4-8 ม.ค.) พลิกเกมหุ้นวันแรกปีฉลู ผวาโควิดระบาดหนัก

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 4, 2021 08:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (4-8 ม.ค.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 4 มกราคม 2564

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2563 (28-30 ธ.ค.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,449.35 จุด ลดลง 2.49% จากสัปดาห์ก่อน หลังจากเผชิญกับแรงขายทำกำไรของผู้ลงทุน 2 กลุ่มหลักคือกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติและผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ ที่ต้องการลดความเสี่ยงก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ ขณะที่ตลอดทั้งปี 2563 ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนติดลบ 8.26% เป็นการลดลงจากปีก่อน

สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของปี 2564 ยังคงถูกปกคลุมไปด้วยความเสี่ยงและความกังวลที่ยกระดับเพิ่มขึ้นของสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ภายหลังจากพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงล่าสุดยังมีกระแสข่าวด้วยว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์ ได้พบในประเทศไทยแล้วจากครอบครัวชาวอังกฤษ 4 รายที่เดินทางมาในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการกักตัวผู้ป่วยและรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อดังกล่าวในประเทศไทย

ตามการรายงานข้อมูลของ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 315 ราย ประกอบไปด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ 274 ราย และผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานต่างด้าวผ่านการคัดกรองเชิงรุก 20 ราย ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้อีก 21 ราย ส่งผลให้ล่าสุดจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมรวมในประเทศอยู่ที่ 7,694 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,337 ราย และผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 3,293 ราย ขณะที่ล่าสุดยังไม่มีการรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงเดิมที่ 64 ราย

นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง เปิดเผยว่า แม้ว่าความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะปะทุขึ้นมาในระลอกใหม่ และอาจกลายเป็นปัจจัยลบกระทบเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป แต่ในทางกลับกันอยากให้มองอีกหนึ่งในปัจจัยบวกสำคัญคือความคืบหน้าของการเริ่มใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศ หากเห็นผลในเชิงบวกจากจำนวนผู้ป่วยส่งสัญญาณลดลงตามลำดับ ขณะที่รัฐบาลของไทยก็เตรียมเจรจาจัดซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตทุกราย เพื่อให้สามารถเริ่มโครงการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ต้นปี 2564 ก็น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของตลาดหุ้นได้อีกครั้ง

"สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 หลังจากหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ คาดว่ารัฐบาลคงจะยังใช้มาตรการคุมเข้มแต่จะเป็นการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้ล็อกดาวน์ทั้งประเทศเหมือนกับช่วงแรกที่เกิดการแพร่ระบาด เพราะมีบทเรียนมาแล้วในหลายๆเรื่อง ขณะเดียวกันด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากความคืบหน้าการเริ่มใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ในต่างประเทศแล้ว ซึ่งหากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นในเดือน ม.ค.-ก.พ. แต่จำนวนผู้ติดเชื้อและการรักษาหายของผู้ป่วยในต่างประเทศส่งสัญญาณลดลงตามลำดับ จะเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนการฟื้นตัวความเชื่อมั่นและตลาดหุ้นให้กลับมา Outperform รอบใหม่"

สำหรับปรากฎการณ์ "January Effect" มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่มองเป็นแรงซื้อหุ้นรายตัวที่คาดการณ์ผลตอบแทนเรื่องการจ่ายเงินปันผลงวดรอบปีที่ตามกำหนดจะเริ่มทยอยขึ้นเครื่องหมาย XD และจ่ายเงินปันผลกันช่วงเดือนเมษายน ทำให้หุ้นปันผลเข้ามาอยู่ในเรดาห์ผู้ลงทุน ส่วนปี 64 คาดการณ์เป้าหมายดัชนีฯอยู่ที่ 1,570 จุด แต่กรณีเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน และสนับสนุนการปรับเพิ่มอัพไซด์เป้าหมายดัชนีฯในระยะถัดไปได้เช่นกัน

ขณะที่บทวิจัยฯ บล.กสิกรไทย ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้มีแนวรับที่ 1,425 และ 1,400 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,460 และ 1,480 จุด ตามลำดับ สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยปี 2563 SET INDEX มีกรอบการเคลื่อนไหวในช่วง 969.08- 1,604.43 จุด ทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นปีท่ามกลางหลากหลายปัจจัยกดดัน อาทิ สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง ความล่าช้าในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ก่อนจะร่วงลงแตะจุดต่ำสุดในช่วงเดือน มี.ค. หลังไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยต้องประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์

ในเวลาต่อมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นโดยมีปัจจัยหนุนจากการออกมาตรการฉุกเฉินของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกทั้งปรับลดดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่อง รวมถึงการทยอยปลดล็อกเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่เริ่มย่อตัวลงเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี ท่ามกลางแรงฉุดจากความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศ

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยดีดตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปีทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาคขานรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ประกอบกับมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระตุ้นความหวังต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงแรงซื้อจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กรอบการปรับขึ้นของหุ้นไทยในช่วงสิ้นปีถูกจำกัดจากความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงมีสัญญาณรุนแรงและยืดเยื้อ

ด้านธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้อยู่ที่ 29.80-30.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกและในไทย รายงานนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน และอังกฤษ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP เดือนธ.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน พ.ย.

https://youtu.be/kDlsWrtiRbA


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ