นางสาวมิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist บลจ.บัวหลวง เปิดเผยว่า กองทุนบัวหลวงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 64 จะขยายตัวที่ 3.8% เป็นอัตราการขยายตัวที่ยังไม่กลับไปสู่ระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ ในปี 65-66
สำหรับประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ ได้แก่ ความเสี่ยงจากการที่โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง อาจจะไปตอกย้ำผลกระทบด้านลบกับธุรกิจในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว และการบิน ทั้งยังอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงานและการบริโภคในประเทศด้วย ส่วนอีกประเด็นที่ต้องจับตา คือ ความเสี่ยงด้านการเมืองภายในประเทศที่มีการประท้วงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาจจะมีผลต่อเสถียรภาพของประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้
นโยบายการคลังจะเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ทั้งนโยบายที่มุ่งเน้นกระตุ้นการบริโภคในครัวเรือน การท่องเที่ยวในประเทศ การช่วยเหลือเกษตรกร และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเม็ดเงินจะมาจากงบประมาณคลังประจำปีงบประมาณ 64 และเม็ดเงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่อนุมัติไปเมื่อช่วงเดือน เม.ย.63
ในส่วนของนโยบายการเงิน กองทุนบัวหลวง มองว่าหากโควิด-19 แพร่ระบาดในวงกว้าง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะจัดประชุมนัดพิเศษเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกสู่ระดับ 0.25% จากที่การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.63 มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% เนื่องจาก กนง.ระบุไว้แล้วว่าจะจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิดและจะรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด ขณะที่ค่าเงินบาทปีนี้ กองทุนบัวหลวง มองกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 30.00-31.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ กองทุนบัวหลวง ประเมินเศรษฐกิจโลกปีนี้ว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 4-6% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 5.4% จากที่ปี 63 คาดว่าจะหดตัว -4.4% นับเป็นอัตราการขยายตัวที่ทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้กลับไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 62 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญมาจากเศรษฐกิจของประเทศจีนเป็นหลัก ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศในโลกมีอัตราแตกต่างกันไปตามโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับตัวของธุรกิจ และนโยบายจากภาครัฐและธนาคารกลางของแต่ละประเทศที่ออกมา