SCI ตั้งเป้ารายได้ปี 64 เพิ่มเป็น 2 พันลบ. จาก Backlog -รง.เสาไฟฟ้าหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 5, 2021 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอสซีไอ อีเลคตริค (SCI) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปี 64 จะเติบโตแตะ 2 พันล้านบาท จากปี 63 คาดรายได้เติบโตมาที่ 1.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามธุรกิจผลิตและจำหน่ายตู้สวิตช์บอร์ด, ผลิตและจำหน่ายเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาสื่อสารโทรคมนาคม ที่ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บริษัทมีปริมาณงานในมือ (Backlog) ยกมาจากปีก่อน แบ่งเป็น ตู้สวิตช์บอร์ดกว่า 200 ล้านบาท, เสาส่งไฟฟ้าแรงสูงฯ ราว 700 ล้านบาท ทำให้ทั้งปี 64 มีออร์เดอร์การผลิตยาวไปจนถึงสิ้นปีแล้ว อีกทั้งยังมีงานที่อยู่ระหว่างรอประกาศ หรือใบสรุปจากลูกค้าอีกค่อนข้างมาก หากมีการประกาศออกมาก็จะส่งผลให้มีออร์เดอร์การผลิตยาวไปถึงกลางปี 65

ขณะเดียวกันโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาสื่อสารโทรคมนาคมในเมียนมาที่เริ่มดำเนินการไปเมื่อปี 62 เริ่มเห็นงานภาครัฐทยอยออกมาบ้างแล้วในช่วงปลายปี 63 และต้นปี 64 ทำให้คาดว่าโรงงานดังกล่าวน่าจะเข้ามาสนับสนุนรายได้บริษัทได้ดีในปีนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรองานโครงการขนาดใหญ่ 200-300 ล้านบาทที่จะเข้ามาหนุนการผลิตให้สามารถเดินเครื่องได้เต็มตลอดทั้งปี

"เรามีงานในมืออยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะงานเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาโทรคมนาคม ที่มีอยู่ราว 700 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้เกือบทั้งหมด และบางส่วนจะรับรู้ในปีถัดไป ส่วนตู้สวิตช์บอร์ด คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ทั้งหมด โดยงานในมือดังกล่าวยังไม่รวมกับงานที่รอประกาศอยู่ อีกทั้งยังมีงานจากโรงงานผลิตฯ ในประเทศเมียนมาที่จะเข้ามาหนุนรายได้ในปีนี้ด้วย"นายเกรียงไกร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า บริษัทยังเตรียมรับรู้รายได้จากงานรับเหมาติดตั้งระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงและระบบไฟฟ้าจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 170 ล้านบาท และยังมีแผนการประมูลงานดังกล่าวเพิ่มเติมอีก โดยวางงบลงทุนไว้ราว 200-300 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็คาดว่าในปีนี้จะมีรายได้จากงานรับเหมาราว 200-250 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าปีนี้จะยังคงทำกำไรสุทธิได้ต่อเนื่องจากปีก่อน หากการดำเนินงานของโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาสื่อสารโทรคมนาคมในเมียนมาเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนไม่ผันผวนมากนัก โดยบริษัทมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ไว้ที่ระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทไม่แข็งค่ามากกว่านี้ก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน

สำหรับในปีที่ผ่านมา บริษัทได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน และผลการดำเนินงานของโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาสื่อสารโทรคมนาคมในเมียนมาที่ยังไม่ค่อยดี เนื่องจากมีงานออกมาไม่มากนัก ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานอาจไม่ดีมากนัก อย่างไรก็ตามคาดว่ารายได้และกำไรสุทธิในปี 63 ยังคงเติบโตเมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 134.83 ล้านบาท และมีรายได้ 1.13 พันล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 63 มีรายได้อยู่ที่ 1.02 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 18.48 ล้านบาท

นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท ที ยูทิลิตี้ส์ จำกัด (TU) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ถือหุ้น 45% เพื่อลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภคต่างต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศนั้น ปัจจุบันมีแผนจะเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน 40 ชุมชน รวม 120 เมกะวัตต์ (MW) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 100 เมกะวัตต์ (MW) โดยคาดว่ากระทรวงพลังงานน่าจะเปิดประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนได้ในเดือนเม.ย.-พ.ค.นี้ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไตรมาส 3/64 ซึ่งหาก TU ชนะประมูลงานดังกล่าว ก็น่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างสักระยะหนึ่ง ทำให้คาดว่า TU จะสามารถรับรู้รายได้เข้าได้ในช่วงปลายปี 65 เป็นต้นไป

ส่วนงานการติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรม (Private PPA) ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 4 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าปีนี้จะมีงานเพิ่มขึ้นอีกราว 2-3 เมกะวัตต์

สำหรับแหล่งเงินลงทุนในปีนี้ บริษัทยืนยันว่ายังมีกระแสเงินสดในมืออยู่ค่อนข้างมาก และมีหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับต่ำ หรือไม่เกิน 1 เท่า ซึ่งหากสามารถประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนได้ ก็อาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม โดยวางงบลงทุนไว้ที่ 200 ล้านบาทต่อ 1 ชุมชน ทำให้จะต้องมีการกู้ยืมจากสถาบันทางการเงินส่วนหนึ่ง แต่บริษัทก็มีนโยบายรักษา D/E ไว้ไม่ให้เกิน 2 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ