(เพิ่มเติม) NOK เล็งยื่นแผนฟื้นฟู มี.ค. 64 หลังเจรจาเจ้าหนี้ได้กว่า 50% มั่นใจ 3 ปีออกได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 6, 2021 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายในเดือน มี.ค.64 หลังศาลฯมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 4 พ.ย.63 โดยบริษัทได้เจรจากับเจ้าหนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ให้เช่าเครื่องบินไปแล้วกว่า 50% แล้ว ซึ่งเจ้าหนี้จะสามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ได้ภายใน 15 ม.ค.64 จากที่ยื่นมาแล้ว 60 ราย ขณะที่ที่มีเจ้าหนี้อยู่ 400-600 ราย เป็นเจ้าหนี้การค้า ไม่รวมกรณีผู้โดยสาร

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะใช้เวลาฟื้นฟูกิจการ 3 ปี เร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ 5 ปี และขยายเวลาได้ครั้งละ 1 ปี 2 ครั้ง

แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ แต่คาดว่าในช่วงปลายปี 64 ที่เป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นได้ แต่อย่างไรก็ตามในเดือน ธ.ค.63 อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) ลดลงไปเหลือ 60% จากปกติอยู่ที่ 85% โดยส่วนใหญ่เลื่อนบินออกไป ส่วนในเดือน ม.ค. 64 ณ วันนี้เดินทางจริง 60% และยอดจองก็ยังลดลง เนื่องจากการเดินทางข้ามจังหวัดในบางพื้นที่กำหนดให้มีการกักตัว 14 วัน เช่น เชียงใหม่ ทำให้คนเดินทางน้อยลงไป ซึ่งอาจส่งผลต่อกระแสเงินสดของบริษัทบ้าง

นายวุฒิกร กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการ หลักๆ จะดำเนินการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย โดยค่าใช้จ่ายหลักที่จะปรับลดลง ได้แก่ ค่าเช่าเครื่องบิน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักราว 30% ซึ่งบริษัทเจรจาขอลดค่าเช่ามากกว่า 50% ที่เซ็นสัญญาแล้วและบางส่วนเซ็นยังไม่ครบ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ลดหนี้ไปครึ่งหนึ่ง และยังมีการขยายเวลาการเช่าออกไป 2-3 ปีจากที่มีระยะเวลาเช่าเหลือ 4 ปีสำหรับเครื่องบินโบอิ้ง B-737-800 จำนวน 14 ลำ และปรับเป็นการเก็บค่าเช่าตามที่ใช้จริง จากที่เคยจ่ายแบบเหมา (Fixed)

ในด้านค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน 12% โดยมีการต่อรองสัญญาในส่วน Maintenance Reserve ที่ต้องจัดเก็บไม่ว่าจะทำการบินหรือไม่ก็ตาม และมีอัตราเพิ่มปีละ 3-5% ก็ได้ขอต่อรองปรับลดอัตราการเพิ่ม

นอกจากนี้ บริษัทจะเน้นทำการบินระยะไกลขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงลดลง 15-20% ของค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงเครื่องบิน เพราะไม่ว่าจะบิน 1 ชม.กับ 1.30 ชม.ค่าใช้จ่ายไม่ต่างกัน หรือยกตัวอย่าง เส้นทางดอนเมือง-ญี่ปุ่น มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเล็กน้อยเทียบกับเส้นทางดอนเมือง-เชียงใหม่

ทั้งนี้ ปัจจุบันสายการบินนกแอร์ทำการบินในเส้นทางในประเทศเป็นหลัก ก็จะเปลี่ยนไปทำการบินในต่างประเทศมากขึ้น อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปินส์ บังคลาเทศ ประเทศแถบตะวันออกกลาง จากที่มีเส้นทางไปญี่ปุ่น เวียดนาม เมียนมา โดยคาดว่าจะเริ่มทำการบินในต่างประเทศได้ในเดือน พ.ย. 64 เลื่อนจากเดิมในเดือน ก.ค. 64 ที่คาดว่าตลาดต่างประเทศจะกลับมาฟื้นหลังจากที่มีการระบาดโควิด-19 รอบใหม่

และยังช่วยเพิ่มการใช้เครื่องบิน (Utilization) ที่จะมีเครื่องบินทำการบินในช่วงกลางคืน โดยตั้งเป้าอัตราใช้เครื่องบิน 12.5 ชม./วัน จากก่อนโควิดใช้อยู่ที่ 11 ชม./วัน

นายวุฒิภูมิ คาดว่าเมื่อสามารถทำการบินไปต่างประเทศได้มากขึ้น จะทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 10-15% จากก่อนโควิดมีสัดส่วนรายได้จากเส้นทางบินต่างประเทศ 10% และมีผู้โดยสารต่างประเทศ 5% รวมทั้งจะเพิ่มการเช่าเครื่องบินอีก 1 ลำในปีนี้ในไตรมาส 4/64 รองรับการบินในเส้นทางต่างประเทศด้วย โดยปัจจุบันมีฝูงบิน 22 ลำ เป็นเครื่องบินโบอิ้ง B-737-800 จำนวน 14 ลำ และ เครื่องบินใบพัด 8 ลำ อายุเฉลี่ย 4-6 ปี ทั้งนี้ การเช่าเครื่องบินเพิ่มเป็นข้อตกลงการลดค่าเช่าเครื่องบินลงด้วย

ในส่วนรายได้ นอกจากจะเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มเส้นทางต่างประเทศแล้ว ยังมีการเพิ่มช่องทางการขายตั๋วโดยสารกับกลุ่มพันธมิตร ซึ่ง NOK เป็นสมาชิก Vulue Alliance มี 5 สายการบินที่มีสายการบินแถบตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น เกาหลี ร่วมด้วย โดยจะใช้เอเยนซีของสายการบินพันธมิตรร่วมกัน มีความร่วมมือทั้ง Code Share และ Interline Share

นอกจากนี้ยังปรับราคาตั๋วสูงขึ้น โดยเปลี่ยน Positioning ตลาดจาก Low Cost Airline เป็น Premium Airline เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสาร โดยมีจุดแข็งที่มีเบาะที่นั่งกว้างกว่าสายการบินอื่น

รวมทั้งจะเพิ่มรายได้ที่ไม่ใช่การบิน (Non Aero) จากการให้บริการแพ็คเกจรวมโรงแรมและรถเช่าเพิ่มเติมจากที่ไม่เคยมีบริการนี้ จะเพิ่มรายได้อย่างน้อย 5% จากที่มีสัดส่วนรายได้ 12% ที่มาจากบริการขนสัมภาระเท่านั้น ขณะที่สายการบินคู่แข่ง มีสัดส่วนรายได้ Non Aero กว่า 20% และสายการบินระดับโลก 30-40% ส่วนการขายสินค้าบนเครื่องบิน และ การให้บริการด้าน Entertainment และ E-Commerceจะจ้างเอาท์ซอร์สมาดำเนินการ ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือก

อนึ่ง ศาลล้มละลายกลางได้ แต่งตั้งบริษัทแกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ๊ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับนายปริญญา ไววัฒนา, นายไต้ ชอง อี, นายเกษมสันต์ วีระกุล, นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร และ นายชวลิต อัตถศาสตร์ เป็นผู้ทำแผน

ทั้งนี้ NOK ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เพราะมีหนี้สิน 2.6 หมื่นล้านบาท มากกว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ 2.3 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ