แหล่งข่าวจาก บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ขณะนี้บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือปตท.สผ. ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่โครงการ G1/61(เอราวัณ) เพื่อเตรียมตัวรองรับการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณให้มีความต่อเนื่องภายหลังสัมปทานเดิมที่มีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ (Operator) สิ้นสุดลงในเดือน เม.ย.65 ซึ่งนับว่ายังมีความล่าช้า เนื่องจากยังต้องรอผลการเจรจากับเชฟรอนฯ เพื่อขอเข้าสำรวจและพัฒนาพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิต
ขณะเดียวกันทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก็ร่วมเจรจากับเชฟรอนฯ เพื่อให้ ปตท.สผ. สามารถเข้าสำรวจพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแท่นผลิตเดิมของเชฟรอนฯ รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่เชฟรอนฯไม่มีแผนติดตั้งแท่นในบริเวณดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบัน ปตท.สผ.ยังไม่สามารถเข้าดำเนินการได้
ส่วนการเตรียมการผลิตของแหล่ง G2/61 (บงกช) ภายหลังสัมปทานเดิมสิ้นสุดลงคาดว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการในแหล่งดังกล่าวอยู่แล้ว
ปัจจุบัน แหล่งเอราวัณ มีกลุ่มเชฟรอนฯ เป็นผู้ดำเนินการ มีการผลิตก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ราว 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ส่วนแหล่งบงกชที่มีกลุ่ม ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ มีการผลิตก๊าซฯอยู่ที่ราว 900 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยแหล่งเอราวัณและบงกช จะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 65-66
ขณะที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ได้รับสัญญาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในแหล่งเอราวัณและบงกช มีข้อผูกพันจะต้องผลิตปิโตรเลียมจากทั้ง 2 แหล่งให้มีความต่อเนื่องทันที โดยจะต้องมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำสำหรับ 10 ปีแรกของระยะการผลิตที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แบ่งเป็น แหล่งเอราวัณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และบงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน