เจ้าหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์ กลุ่ม บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 64 เติบโตขึ้นจากปี 63 โดยได้รับปัจจัยหลัก คือ ผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 304 อินเตอร์ และโรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนในปีนี้ ส่งผลดีต่อภาพรวมการดำเนินงานให้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดรอบใหม่ เนื่องจากโรงพยาบาลในเครือจุฬารัตน์ มีบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ของภาครัฐ แต่ต้องการตรวจหาเชื้อ หรือเคยใช้สิทธิตรวจฟรีไปแล้วแต่ต้องการตรวจซ้ำ โดยสามารถเข้ารับบริการตรวจได้จากทุกโรงพยาบาลในเครือ ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท (ไม่รวมค่าแพทย์) ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการของลูกค้าเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน ทางโรงยาบาลในเครือก็มีบริการตรวจหาเชื้อโควิดฟรีให้กับผู้ที่เข้เกณฑ์ภาครัฐ ทั้งคนไทยทุกคนทุกสิทธิและคนต่างด้าวที่มีประกันสังคมที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด สามารถเข้าใช้บริการได้ที่โรงพยาบาลในเครือจุฬารัตน์ทุกแห่ง
ส่วนปัจจัยลบที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 นั้น ยังไม่เห็นผลกระทบอย่างชัดเจนว่าจะทำให้ทั้งผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยนอก (OPD) มีจำนวนลดลงหรือไม่ คงต้องรอดูสถานการณ์อีกระยะหนึ่งก่อน
สำหรับการลงทุนในปีนี้ บริษัทมีแผนก่อสร้างศูนย์มะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ จำนวน 10 เตียง มูลค่าการลงทุนรวม 250 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ แต่ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์โดยรวมด้วย โดยมีเป้าหมายดำเนินการแล้วเสร็จ เปิดให้บริการได้ในปี 65
รวมถึงยังมีโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬารัตน์ แม่สอด อินเตอร์ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ขนาด 100 เตียง งบประมาณการลงทุน 600 ล้านบาท คาดว่าการดำเนินการก่อสร้างจะขึ้นอยู่กับสถามการณ์ปัจจุบัน โดยมีกำหนดการเปิดให้บริการในปี 65-66
ด้านผลการดำเนินงานในปี 63 บริษัทคาดการณ์รายได้จะเติบโต 3-5% จากปี 62 ที่มีรายได้อยู่ที่ 5,191 ล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนของปี 63 มีรายได้แล้ว 3,938 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างรอดูผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/63 หากออกมาดีตามคาดการณ์ ก็น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้รายได้ในปี 63 เติบโตมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ได้
อย่างไรก็ตามบริษัทประเมินแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/63 คาดว่าน่าจะเติบโตดีกว่าไตรมาส 3/63 เนื่องด้วยมีการระบาดของ Respiratory Syncytial Virus (RSV) ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ส่งผลให้รายได้จากผู้ป่วยใน (IPD) กลับมาเติบโต รวมถึงยังรับรู้รายได้จาก Alternative State Quarantine (ASQ) หรือ สถานที่กักตัวจากการร่วมกับโรงแรมมากขึ้น
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/63 ยังคาดว่าจะเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จากฐานที่ต่ำในปี 62 ที่ได้รับผลกระทบจากสำนักงานประกันสังคม ได้ปรับลดการเหมาจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ประเภทผู้ป่วยในด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากงบประมาณรวมของปี 62 ไม่เพียงพอ ทำให้รายได้จากประกันสังคมลดลง 38 ล้านบาท แต่ในปีนี้ไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าวแล้ว