นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า บริษัทยังมั่นใจว่าการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) GSRC ในจ.ชลบุรี ขนาด 2,500 เมกะวัตต์ (MW) ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายในปี 64-65 และโรงไฟฟ้า GPD ในจ.ระยอง ขนาด 2,500 เมกะวัตต์ ในปี 66-67 แม้ว่าล่าสุดรัฐบาลประกาศให้จ.ชลุบรี และระยอง เป็น 2 ใน 5 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเนื่องจากมีบุคลากรประจำอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว
สำหรับโรงไฟฟ้า GSRC มีกำหนด COD ยูนิตที่ 1 จำนวน 625 เมกะวัตต์ ในวันที่ 1 มี.ค. 64 และยูนิตที่ 2 จำนวน 625 เมกะวัตต์ COD ในเดือน ต.ค. 64 รวมเป็น 1,250 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 2 ยูนิต กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์ มีกำหนด COD ในปี 65
ทั้งนี้ บริษัทคาดการณ์ว่ารายได้ในปี 64 จะเติบโตมาอยู่ในระดับ 5.4-5.5 หมื่นล้านบาท จากการทยอยรับรู้รายได้ตามการเริ่ม COD ของโรงไฟฟ้าใหม่ขนาดใหญ่ดังกล่าว รวมถึงยังมีกำหนด COD โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในเวียดนาม ช่วงเดือน มี.ค. 64 ราว 30 เมกะวัตต์ และในเดือน ต.ค. 64 อีก 98 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิต 128 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังจะรับรู้รายได้เต็มปีของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ที่ประเทศเยอรมนี ขนาด 464.8 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทได้เข้าลงทุนราว 50% เมื่อปลายปีที่แล้ว
นางสาวยุพาพิน กล่าวด้วยว่า บริษัทยังได้ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดจร (SPOT LNG) เพื่อรองรับการนำเข้าของกลุ่มบริษัท หลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) โดยปัจจุบันราคา SPOT LNG ปรับขึ้นมายืนอยู่ในระดับสูงกว่า 12 เหรียญสหรัฐ/ล้านบียู แต่เชื่อว่าราคาที่สูงขึ้นน่าจะเป็นเพียงชั่วคราวในช่วงฤดูหนาว ขณะที่การนำเข้า LNG ของบริษัทมีเป้าหมายเพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าในกลุ่ม ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำที่สุด โดยไม่มีแผนที่จะนำเข้า LNG มาจำหน่ายแก่ภาคอุตสาหกรรมทั่วไป และการนำเข้าก็จะไม่กระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่ทำไว้กับ บมจ.ปตท. (PTT) แต่อย่างใด