นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 64 เติบโต 20-25% จากปีก่อน จากการดำเนินงานใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เติมเงินอัตโนมัติ การจำหน่ายตู้เติมเงินอัตโนมัติทั้งในรูปแบบการชำระด้วยเงินสดและเงินผ่อน ภายใต้ชื่อ ตู้เติมเงิน เติมสบายพลัส พร้อมทั้งจะมุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และประคองรายได้ไม่ให้ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามคาดหวังว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนต้องทำงานจากที่บ้าน หรืออยู่บ้านมากขึ้น ก็ทำให้มีโอกาสใช้บริการเติมเงินผ่านตู้เติมสบายพลัสได้มากขึ้น โดยคาดหวังยอดเติมเงินในปีนี้จะเติบโตได้ 3-5% หรือมากกว่าอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ยังมีแผนเปิดตัวบริการใหม่ ผ่านตู้เติมเงินในช่วงเดือนก.พ.นี้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นบริการที่ทำให้ผู้ใช้บริการตื่นตาตื่นใจ และเรียกได้ว่าเป็นบริการที่รายอื่นในอุตสาหกรรมยังไม่มี โดยบริษัทนับเป็นผู้ดำเนินการรายแรกและรายเดียว ซึ่งจะทำให้เป็นการพิสูจน์ความต่างระหว่างตู้เติมเงินเติมสบายพลัสกับรายอื่นในตลาด
2.ธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารสำเร็จรูปผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้แบรนด์ "เวนดิ้ง พลัส" คาดว่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 20% แม้ในช่วงเดือนม.ค.นี้ จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การออกมาจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากปัจจุบันบริษัทยังมีตู้เติมเงินจำนวนหนึ่งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า รวมถึงการปิดโรงงานอุตสาหกรรมหลาย ๆ แห่ง ส่งผลทำให้คนไม่สามารถเข้าไปซื้อสินค้าผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติได้ แต่อย่างไรก็ตามในภาพรวมก็มองว่าธุรกิจดังกล่าวยังคงเป็นขาขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ที่น่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
พร้อมกันนี้บริษัท ยังมีความสนใจที่จะซื้อหุ้นของ บริษัท เวนดิ้ง พลัส จำกัด (VDP) ซึ่งทำธุรกิจให้บริการตู้ขายสินค้าอัตโนมัติเพิ่มเติม หากมีผู้ถือหุ้นแจ้งความจำนงว่าจะขาย เนื่องจากปัจจุบันมีพันธมิตรทางธุรกิจติดต่อเข้ามา เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจตู้ขายสินค้าดังกล่าวค่อนข้างมาก ขณะที่ล่าสุดคณะกรรมการบริษัทเพิ่งอนุมัติให้เข้าซื้อหุ้น VDP เพิ่มเป็น 86.12% จากเดิม 82.47%
3. ธุรกิจให้บริการระบบการจัดการบริหารศูนย์อาหาร และระบบร้านอาหาร คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ หลังบริษัทได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ สบาย POS ซึ่งถือว่าเป็นน้องใหม่สุดของ SABUY ที่น่าจะเข้ามาช่วยขยายฐานลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ B2B รวมไปถึง B2C ที่เป็นลูกค้าทั่วไป ลูกค้า SME ได้เข้าถึงระบบบริหารจัดการ Point of Sale System : POS ของบริษัท
4. ให้บริการการชำระเงิน (Payment Service Provider / Facilitator) ภายใต้ชื่อ สบายมันนี่ ผู้บริการแพลตฟอร์มชำระเงินและเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money/ e-Wallet) ปัจจุบันได้เริ่มเปิดใช้ภายในองค์กรแล้ว เพื่อให้พนักงานทดสอบระบบ คาดว่าจะสามารถเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ภายในเดือนก.พ.64
"เรายอมรับว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ก็ส่งผลกระทบกับเราบ้าง แต่อย่างไรก็ตามเรามีการรับรู้รายได้แบบกระจายไปในหลายธุรกิจ เช่น ระบบศูนย์อาหาร เรามีรายได้ที่มั่นคง จากลูกค้า B2B ซึ่งเมื่อมีการขึ้นโปรเจกต์ไปแล้วเขาจะไม่มีการดีเลย์ และระบบเก่าที่เขาใช้อยู่มานานกว่า 10 ปี ก็ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนแล้ว ซึ่งระบบใหม่ที่เขาทยอยเปลี่ยนก็เปลี่ยนมาตั้งแต่ปี 63 แล้ว และน่าจะทยอยเปลี่ยนให้ครบจำนวนสาขาในปีนี้ อีกทั้งยังคงมุ่งมั่นในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น การลดกระดาษภายใต้องค์กร เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น และลดจำนวนคนทำงานลง" นายชูเกียรติ กล่าว
นายชูเกียรติ กล่าวว่า สำหรับการลงทุนในปีนี้ บริษัทมีแผนขยายตู้เติมเงินเพิ่มเติมอีก จำนวน 3,000-4,000 ตู้ จากปัจจุบันที่มีตู้เติมเงินเติมสบายพลัสรวมทั้งสิ้น 53,000-54,000 ตู้ และตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ราว 3,000-6,000 ตู้ จากปัจจุบันมีอยู่ 6,000 ตู้ โดยวางงบลงทุนรวมทั้งสิ้น 800 ล้านบาท
ส่วนล่าสุดที่บริษัทได้ร่วมทุนกับบริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ภายใต้ชื่อบริษัท สบาย เอ็กเชนจ์ จำกัด เพื่อพัฒนาธุรกิจร่วมกันในการจัดทำระบบ Loyalty Program สำหรับการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้านั้น คาดว่าในปีนี้จะสามารถออกผลิตภัณฑ์ออกมาได้
"ระบบของ บัซซี่บีส์ ถือว่าเป็นระบบที่ใหญ่มาก และเขามาร่วมมือกับเรา ซึ่งแสดงว่าเขาเห็นศักยภาพของเรา ศักยภาพของธุรกิจ ว่าจะสามารถเติบโตไปด้วยกันได้ดี โดยผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาจะเกี่ยวกับ Loyalty Points ที่สามารถใช้ในที่ต่างๆ ที่เป็นระบบทั้ง บัซซี่บีส์ และ สบายฯ คาดว่าสินค้าและบริการจะออกมาได้ในช่วงปลายไตรมาส 1/64 และน่าจะเห็นการทยอย onboard ลูกค้าเข้ามา ซึ่งลูกค้าก็จะมีทั้ง B2B, B2C" นายชูเกียรติ กล่าว