นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีที่ธนาคารกรุงเทพ(BBL)จะเจรจาขายหุ้นที่ถือในธนาคารสินเอเซีย(ACL)ให้กับพันธมิตรต่างชาตินั้น อาจจะเข้าข่ายที่สามารถขยายสัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติถือหุ้นเกิน 25% ได้ หากมีจุดประสงค์ที่จะเข้ามาเพื่อปรับปรุงฐานะและการดำเนินงาน ซึ่งหากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ไม่แน่ใจก็สามารถส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อนได้
รมว.คลัง เชื่อว่า การส่งให้กฤษฎีกาตีความในเรื่องดังกล่าวคงไม่น่าจะทำให้เกิดความล่าช้า หากกระทรวงการคลังขอให้ช่วยเร่งพิจารณา แต่ทั้งนี้หากร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ที่กำลังจะเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในต้นเดือนต.ค.และมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าว
ส่วนกระแสข่าวที่ต่างชาติอาจต้องการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ACL นั้น นายฉลองภพ กล่าวว่า ต่างชาติทุกรายที่เข้ามาลงทุนต่างมีเป้าหมายต้องการเข้ามาควบคุมภายในธนาคาร แต่ทุกอย่างจะต้องเดินตามขั้นตอน
พร้อมยืนยันว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ในระยะปานกลาง เพราะไม่ต้องการเป็นเจ้าของธนาคารพาณิชย์มากเกินไป และเหตุที่กระทรวงการคลังต้องเข้าไปถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ที่ผ่านมาเป็นเพราะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี หากจะปล่อยให้ต่างชาติจะเข้ามาควบคุมธนาคารพาณิชย์ ก็ต้องมั่นใจก่อนว่าเข้ามาแล้วจะทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งได้ ซึ่งในระยะสั้นคงดูได้ยาก เพราะเคยมีบทเรียนที่ล้มเหลวมาแล้ว ดังนั้นกระทรวงการคลังก็จะต้องมั่นใจก่อนว่าผู้ที่เข้ามาถือหุ้นใหม่จะมีความสามารถทำได้จริง
รมว.คลัง เห็นว่า ในขั้นแรกต่างชาติควรเข้ามาถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ไม่เกิน 25% หรือกรณีของ ACL ที่ซื้อจาก BBL แค่ 19% ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่สามารถทำความเข้าใจกับต่างชาติให้ทราบว่าในอนาคตอาจมีเงื่อนไขให้สามารถซื้อหุ้นเพิ่มได้ โดยกระทรวงการคลังจะคงสัดส่วนหุ้นใน ACL ต่อไปก่อนในระยะแรก เพื่อรอพิสูจน์ฝีมือการบริหารงาน ก่อนจะพิจารณาความเหมาะสมในการลดสัดส่วนหุ้นลง
"หากต่างชาติจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ต้องทำให้เรามั่นใจได้ก่อนว่า เขาสามารถทำให้แบงก์แข็งแกร่งได้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ไม่ใช่เขาเข้ามาแค่ 6 เดือนแล้วเกิดมีปัญหาขึ้นมา ซึ่งตรงนี้เราก็เป็นห่วง" รมว.คลัง กล่าว
นายฉลองภพ เชื่อว่า การที่ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ไทยจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้ ซึ่งขณะนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยกำลังเดินหน้าตาม master plan ขั้นที่ 2 เพื่อให้ธนาคารมีความแข็งแกร่ง ดังนั้นจึงต้องการให้เกิดความหลากหลายในระบบ
สำหรับกรณีการเพิ่มทุนธนาคารทหารไทย(TMB)นั้น กระทรวงการคลังยังยืนยันที่จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน TMB หากการเจรจาร่วมทุนกับไอเอ็นจีประสบผลสำเร็จ ส่วนการลดบทบาทของกระทรวงการคลังลงนั้นจะใช้หลักการเดียวกับ ACL ซึ่งต้องเป็นไปตามขั้นตอน ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาร่วมทุนก็ต้องยอมรับในหลักการ ส่วนจะให้เวลาพิสูจน์ผลงานนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการเจรจา
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--