นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (13 ม.ค.64) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (บ.ย่อย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ) ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz ช่วงความถี่ 723 - 733 MHz คู่กับ 778 - 788 MHz เมื่อปี 2562 ได้นำเงินค่าประมูลงวดที่ 1 จำนวน 1,881.488 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) พร้อมกับหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือวงเงิน 16,933.392 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) มาชำระให้กับสำนักงาน กสทช. เรียบร้อยแล้ว ตามเงื่อนไขของการชำระเงินฯ โดยเงินค่าคลื่นความถี่ดังกล่าว สำนักงาน กสทช. จะรีบนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป
สำหรับการชำระเงินคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz แบ่งการชำระออกเป็น 10 งวดเท่าๆ กัน งวดละ 1,881.488 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์ของบริษัทที่มุ่งมั่นนำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ผ่านมา เอไอเอสจึงตั้งใจอย่างยิ่งในการเข้าประมูลคลื่น 5G แบบเต็ม Block ในทุกย่านความถี่โดยมีครบทั้งย่านความถี่ต่ำ ย่านความถี่กลาง และย่านความถี่สูงครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ ประกอบด้วย คลื่น 700 MHz จำนวน30 MHz (2x15 MHz), คลื่น 2600 MHz จำนวน 100 MHz และคลื่น26 GHz จำนวน 1200 MHz รวมเฉพาะคลื่นความถี่ที่จะนำมาให้บริการ 5G ทั้งหมดอยู่ที่ 1330 MHz และเมื่อรวมกับคลื่นความถี่เดิมที่มีจำนวนมากที่สุดอยู่แล้ว ส่งผลให้เอไอเอสยังคงยืนหยัด ในฐานะผู้นำอันดับ 1 ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการ 3G,4G และ 5G มากที่สุดในอุตสาหกรรม รวม 1420 MHz (ไม่รวมคลื่นที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ)
ปัจจุบันถือได้ว่า เครือข่าย AIS 5G มีความแข็งแกร่งที่สุดในประเทศเพราะนอกจากจะเป็นเพียงรายเดียวที่มีจำนวนคลื่นมากที่สุดในแต่ละย่านแล้ว ยังเป็นเพียงรายเดียวในอุตสาหกรรมที่มีปริมาณแบนด์วิดท์ภาพรวมในระดับ World?s Best-In-Class ส่งผลให้เครือข่ายของเอไอเอสมีขีดความสามารถในการสร้างสรรค์ ออกแบบ Solutions , ปรับเปลี่ยน,Tailor Made เพื่อตอบโจทย์แต่ละอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะในภาพรวมเครือข่าย AIS 5G จะมีความเร็วSpeed ที่สูงกว่าถึง 24 เท่าและมีขีดความสามารถในการรองรับการใช้งาน Capacity ที่มากกว่าถึง 30 เท่า พร้อม Latency ที่ต่ำกว่าเดิมถึง 10 เท่า ทั้งนี้หมายรวมถึงการยกระดับคุณภาพการให้บริการ 4G ปัจจุบันด้วยเช่นกัน
ด้วยมาตรฐานเทคโนโลยี 5G โดย 3GPP ระบุว่า คลื่น 700 MHz จะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพสูงสุด ที่จำนวนเต็ม 30 MHz (2x15 MHz) จึงเป็นที่มาของความตั้งใจในการเข้าประมูลย่าน 700 MHz เพิ่มอีก 10 MHz (2x5 MHz) จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 20 MHz (2x10 MHz) รวมเป็น30 MHz (2x15 MHz) ในขณะที่ คลื่น 2600 MHz ต้องมีจำนวน 100 MHz จึงจะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเช่นกัน ส่วนคลื่น 26 GHz ต้องมีจำนวน 400 MHz ต่อ 1 Block จึงจะสามารถให้บริการ 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการรองรับดิจิทัลโซลูชันส์ให้กับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต จึงเห็นได้ว่าจำนวนคลื่นในทุกย่านความถี่บนเทคโนโลยี 5G นั่น อยู่ในระดับมาตรฐานการให้บริการทั้งสิ้น
"เพราะเราตระหนักอยู่เสมอว่า คลื่นความถี่ คือทรัพยากรสาธารณะอันทรงคุณค่า ดังนั้นหลังจากการประมูลได้แต่ละคลื่นมาให้บริการ เอไอเอส จึงเร่งเดินหน้าพัฒนาเครือข่าย เพื่อส่งต่อประโยชน์ไปยังประชาชน และ ทุกภาคส่วนอย่างรวดเร็วที่สุด ทำให้ล่าสุด ได้รับการรับรองจาก กสทช.ว่า เอไอเอส สามารถขยายเครือข่ายในคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ได้เกินกว่าที่ กสทช.กำหนด (คลื่น1800 MHz ภายใน 4 ปีแรก ต้องขยายโครงข่ายให้ได้ 40% ของจำนวนประชากร โดยเอไอเอสขยายได้ 88.47% ส่วนคลื่น 900 MHz ภายใน 4 ปีแรก ต้องขยายโครงข่ายให้ได้ 50% ของจำนวนประชากรโดยเอไอเอส ขยายได้ 93.59%) ซึ่งทีมงานจะยังคงเดินหน้านำเทคโนโลยี 5G จากทุกคลื่นความถี่ ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีแตกต่างกัน มาสร้างประโยชน์ทันที ตามเจตนารมณ์ของภาครัฐที่ต้องการให้ประเทศไทยก้าวสู่ Digital Intelligent Nation อย่างสมบูรณ์"นายสมชัย กล่าว