เครดิต สวิส มองปีนี้ตราสารทุนให้ผลตอบแทนแกร่งสุดแต่ไทยยังถูกท่องเที่ยวกดดัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 13, 2021 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เครดิต สวิส คาดการณ์ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินต่อไปในอีกหลายเดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตามความพยายามฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังภาวะเศรษฐกิจซบเซาในปี 2563 ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ 5% ในปีนี้ ขณะที่นโยบายผ่อนปรนทางการเงิน (loose monetary policy) ของธนาคารกลางหลาย ๆ ประเทศ และสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งผ่านพ้นไป เป็นปัจจัยสำคัญต่อการจัดสรรเงินลงทุนของนักลงทุนในปีนี้ โดยเครดิต สวิส มองว่าตราสารทุนจะให้ผลตอบแทนแข็งแกร่งที่สุด

เทรนด์การลงทุนใน Supertrends ของเครดิต สวิส ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรมในภูมิภาคต่าง ๆ ช่วยให้นักลงทุนมองเห็นโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนที่น่าสนใจทั่วโลก จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งสำคัญ เครดิต สวิส คาดว่าสินทรัพย์ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ทั้งพันธบัตรและหุ้น จะเติบโตโดดเด่นกว่าตลาดอื่น ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง

"เครดิต สวิส เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงแรกของสถานการณ์โควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จะเป็นปัจจัยส่งเสริมสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะตราสารทุนในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องติดตามเรื่องปัจจัยเสี่ยงให้ดี หากนักลงทุนต้องการรักษาความมั่งคั่งและการลงทุนให้เป็นไปตามแผนระยะยาว แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายและกระจายพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม โดยเน้นลงทุนในตราสารทุนเป็นสำคัญ"

ทั้งนี้ มองว่าตราสารทุน ยังคงให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจมากกว่าพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนต่ำ โดยคาดว่าตราสารทุนในตลาดเกิดใหม่จะเติบโตทันตลาดอื่น และหุ้นของเยอรมนีจะมีอัพไซด์ สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่แนะนำ ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการสุขภาพและอุตสาหกรรมวัสดุ โดยมีโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากวัฏจักรเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวมากขึ้น

ส่วนตลาดทุนของไทยจะยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ยังพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก และจะเป็นเช่นนี้ไปอีกสักระยะหนึ่งจนกว่าจะรัฐบาลจะเปิดน่านฟ้า อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองล่าสุดก็เป็นอุปสรรคขัดขวางการกระตุ้นเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวในไทย อย่างไรก็ตามคาดว่าตลาดทุนไทยจะได้รับอนานิสงส์จากการจัดหาวัคซีนที่จะช่วยฟื้นการท่องเที่ยวทั่วโลกอีกครั้ง ซึ่งก็ต้องรอจนถึงครึ่งปีหลัง 2564

สำหรับจีน ยังเป็นตลาดสำคัญในเอเชียของเครดิต สวิส การเติบโตของการจ้างงานที่ดีขึ้นและรายได้หลังหักภาษี (Disposable Income) ของประชาชนที่มากขึ้นกระตุ้นให้เกิดความต้องการในตลาดจีนอีกครั้ง ปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจะไม่ส่งผลเสียเพราะมีกระแสเงินลงทุนในพอร์ตการลงทุนเข้ามา สอดคล้องกับค่าเงินหยวนที่แข็งค่า ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์ในตลาดจีน

ด้านตราสารหนี้ ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างน้อยมาก ขณะที่พันธบัตรแบบ hard currency bonds ในตลาดเกิดใหม่มีความน่าสนใจ การลงทุนใน Investment grade credit ยังคงมีความเสี่ยงที่รับได้แต่ให้ผลตอบแทนที่ดี สำหรับในกลุ่ม high-yield bond เครดิต สวิส แนะนำพันธบัตรกลุ่มที่มีคุณภาพสูง

ส่วนการลงทุนทางเลือก การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ เครดิต สวิส มีมุมมองที่ดีต่ออุตสาหกรรมที่มีการเติบโตในเชิงโครงสร้างเช่น กลุ่มอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ และอสังหาริมทรัพย์

นายเอ็ดวิน ตัน หัวหน้าฝ่ายบริหารความมั่งคั่งและหัวหน้าฝ่ายแนะนำการลงทุนและผลิตภัณฑ์ประจำประเทศไทย ของ เครดิต สวิส กล่าวว่า สกุลเงินเอเชียต่าง ๆ จะได้อานิสงส์จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวและค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะตลาดเอเชียเหนือที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีกว่าที่อื่น และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ที่กำลังเติบโตมาแรง เครดิต สวิส มีมุมมองที่ดีต่อตราสารหนี้เอเชียในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชี้ว่านักลงทุนจะมองหาอัตราผลตอบแทนที่สูง และตลาดเอเชียสามารถให้ผลตอบแทนได้ดีที่สุด ตราสารหนี้สกุลเงิน CNY (Chinese RMB) ของจีนถือว่าน่าจับตามองมากที่สุด เพราะให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ประเภทเดียวกันในตลาดอื่น ๆ และเติบโตโดยไม่สัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่น ๆ ในตลาดโลกมากนัก ซึ่งช่วยกระจายความเสี่ยงให้แก่พอร์ตการลงทุนได้ดี ประกอบกับเครดิต สวิส มีมุมมองที่ดีต่อสกุลเงิน CNY ทำให้ตราสารหนี้สกุลเงิน CNY ยิ่งน่าลงทุน

นายจอห์น วูดส์ ประธานฝ่ายงานลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ เครดิต สวิส กล่าวว่า หลังเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในปี 2563 คาดว่าตลาดเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่นจะกลับมาฟื้นตัวและเติบโตที่ 6.7% ในปี 2564 ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตเร็วกว่าตลาดอื่น ส่วนหนึ่งเพราะภาวะเศรษฐกิจหดตัวอย่างหนักในปี 2563 และเริ่มฟื้นตัวช้ากว่าตลาดอื่น รวมถึงการได้รับประโยชน์อย่างมากจากการได้รับวัคซีนรักษาโควิด-19 ในอนาคต และการท่องเที่ยวที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวตามลำดับ

สำหรับตราสารทุนในตลาดเอเชีย แปซิฟิก ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นเอเชีย ทำให้ความไม่แน่นอนของทิศทางตลาดลดลง ปัจจัยสำคัญอย่างสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าที่ผ่อนคลายลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนตัวลง การเปิดตัวเทคโนโลยีขั้นสูง และการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดีขึ้น จะทำให้ตลาดตราสารทุนแถบเอเชียเหนือยังคงเติบโตโดดเด่นเหนือตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ