โบรกเกอร์เชียร์"ซื้อ"หุ้น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เล็งผลงานปี 64 โตต่อเนื่อง จากธุรกิจหมูเด่นทั้งในไทย จีน และเวียดนาม ราคาหมูยังยืนในระดับสูงจากการส่งออกดีขึ้น, การบริโภคฟื้นตัว และอุปทานที่จำกัดของผู้ประกอบการรายย่อยเช่นเดียวกับในจีนและเวียดนาม ขณะที่ CPF ยังจะรับรู้ธุรกิจหมูในจีนเต็มปีในปีนี้หลังจากเข้าซื้อกิจการเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังมี Synergy จากการถือหุ้นเทสโก้เอเชีย 20% เพิ่มช่องทางการขายในไทย
ทั้งนี้ ราคาหุ้น CPF ถูกกดดันตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/63 เป็นต้นมาจากราคากากถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม CPF ได้ตุนสต็อกวัตถุดิบไว้แล้ว ทำให้อัตรากำไรจะยังดีต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 1/64 และเชื่อว่าราคาหุ้นสะท้อนต่อราคากากถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้นมากเกินไป และคาดอัตรากำไรปี 64-65 ที่ 16% และ 15.8% สูงกว่าในปี 60-62 ที่อยู่ระดับ 12.8%
พักเที่ยงราคาหุ้น CPF อยู่ที่ 29 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 1.75% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.73%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) เอเซีย พลัส ซื้อ 42.00 เคทีบีเอสที ซื้อ 39.50 เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ซื้อ 44.50 ทิสโก้ ซื้อ 38.00 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อเก็งกำไร 35.00
น.ส.สุทธาทิพย์ พีรทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ CPF ในปี 64 ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากธุรกิจหมูทั้งในไทย, จีน และเวียดนาม ที่ราคาหมูยังอยู่ในระดับสูงจากความต้องการที่ยังมีมาก โดยในเวียดนามราคาหมูยืนในระดับสูงจากที่ยังขาดแคลน ซึ่งการเลี้ยงหมูในเวียดนามยังไม่กลับมาเป็นปกติ ส่วนของจีนราคาหมูก็ยังยืนในระดับสูง และ CPF ก็ยังจะรับรู้ธุรกิจหมูในจีนเต็มปีในปีนี้ จากเดิมที่ไม่ได้รับรู้ธุรกิจดังกล่าว
ทั้งนี้ เมย์แบงก์ฯ ปรับประมาณการกำไรปกติของ CPF ในปี 63-64 เพิ่มขึ้น 2% และ 22% ตามลำดับ สะท้อนการลงทุนของบริษัทย่อยคือ CPP ในธุรกิจหมูจีน (CTI) 35% ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 63 และการลงทุน 20% ในเทสโก้เอเชีย เมื่อ 18 ธ.ค.63 โดยผลกระทบเชิงลบน้อยกว่าที่เคยคาด เนื่องจากใช้เงินลงทุน 1.3 พันล้านเหรียญฯ จากเดิม 1.5 พันล้านเหรียญฯ ขณะที่ดอกเบี้ยจ่ายจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยด้วยการนำเงินทุนมาจากกระแสเงินสดภายในกิจการส่วนหนึ่ง และการทยอยออกหุ้นกู้มาก่อนหน้านี้แล้วซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยเพียง 3.6% อีกทั้งคาดว่าไม่มีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
ขณะที่แนวโน้มกำไรปีนี้เติบโตจากการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ปริมาณขายเพิ่มขึ้นจากการขยายการเลี้ยงหมูในไทยและเวียดนามรวมเพิ่มขึ้น 16% เป็น 13 ล้านตัว/ปี อีกทั้งรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเต็มปีจาก CTI ซึ่งเพิ่มการเลี้ยง 33% เป็น 6 ล้านตัว/ปี แม้จำนวนหมูเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าราคาหมูยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจาก Supply ที่ยังขาดแคลนจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) ส่วนการลงทุนในเทสโก้เอเชียคาดว่ามีผลกระทบจำกัด
ด้าน บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า ราคาหมูที่เพิ่มขึ้นในปี 63 จะเป็นปัจจัยบวกต่อในปี 64 โดยราคาหมูในเดือน ธ.ค.63 อยู่ที่ 73 บาท/กิโลกรัม (กก.) ลดลงจาก 80 บาท/กก.ในช่วงก่อนหน้าจากความกังวลการระบาดของโรคเพิร์ส (PRRS) ในหมู แต่อย่างไรก็ตาม ราคาหมูในเดือน ม.ค.64 ได้กลับมายืนเหนือ 80 บาท/กก.อีกครั้งได้รับแรงสนุบสนุนจากอุปทานที่ขาดแคลน
สำหรับปี 64 คาดราคาหมูเฉลี่ยที่ 75 บาท/กก.ทรงตัวสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากการส่งออกที่ดีขึ้น, การบริโภคที่ฟื้นตัว และอุปทานที่จำกัดของผู้ประกอบการรายย่อยเช่นเดียวกับในจีนและเวียดนาม แม้ว่าต้นทุนของ CPF จะเพิ่มขึ้นจากอาหารสัตว์ในปี 64 ก็ยังคงแนะนำให้"ซื้อ"หุ้น CPF
CPF ถูกกดดันตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/63 เป็นต้นไปจากราคากากถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้นในเดือน ธ.ค.63 ราว 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ตาม CPF ได้ตุนสต็อกไว้แล้วที่ 14-15 บาท/กก. ทำให้อัตรากำไรจะยังดีต่อเนื่องในไตรมาส 4/63 ถึงไตรมาส 1/64 และเชื่อว่าตลาดสะท้อนราคากากถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้นนี้ต่อราคาหุ้นมากเกินไป และคาดอัตรากำไรปี 64-65 ที่ 16% และ 15.8% สูงกว่าในปี 60-62 ที่ 12.8%
พร้อมทั้งคาดผลประกอบการปี 64-65 ของ CPF ที่ระดับ 2.15 หมื่นล้านบาท และ 2.11 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ลดลงจากปี 63 แต่ยังนับว่าสูงจากราคาหมูที่ทรงตัว และภาวะอุปทานที่อ่อนแอจนถึงปี 65 หลังผลกระทบของโรค ASF เริ่มหายไป
ส่วน บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า ธุรกิจสุกรและไก่ที่จีน เวียดนาม และไทยยังเติบโตได้ดี นอกจากนี้ยังมี Synergy จากการถือหุ้นเทสโก้เอเชีย 20% เพิ่มช่องทางการขายในไทย ด้านส่วนแบ่งกำไรจากบมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) มีแนวโน้มหดตัวในงวดไตรมาส 1/64 เพราะได้รับผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ แต่เชื่อกำไรธุรกิจหลักยังเติบโตดีหนุนกำไรไตรมาส 1/64 เติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมคาดกำไรปี 64 ยังโตเกิน 5%