(เพิ่มเติม) CPFปรับกลยุทธเพิ่มผลิตเนื้อสัตว์แปรรูป หวังดันมาร์จิ้นพลิกฟื้นเป็นปกติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 11, 2007 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ปรับกลยุทธ์หันมาเน้นการขยายการผลิตและจำหน่ายสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูปมากขึ้น เพื่อหวังสร้างกำไรให้ดีกว่าสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ เนื้อไก่แช่แข็ง และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากเนื้อสัตว์แปรรูป 15-20% ของรายได้รวม 1.3 แสนล้านบาทในปี 2549 
"กลยุทธ์ที่จะรับมือบาทแข็งของเรา เรารู้สึกว่าการที่จะค้าขาย Commodity Price คงไปไม่รอด เพราะเราเคยเจ็บตัว ดังนั้น CPF พยายามเปลี่ยนเป็นอาหารสำเร็จรูปมีแบรนด์เนม ซึ่งจะทำให้เราเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้"นายวีรวัฒน์ กาญจนดุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่บริหารอาวุโส ด้านบัญชีและการเงิน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะกรรมการ CPF กล่าว
นอกจากนี้บริษัทยังได้กระจายตลาดไปยังประเทศในแถบยุโรปมากขึ้นทำให้สัดส่วนส่งออกมี 30% ได้เงินในรูปเงินยูโร แทนที่จะเน้นขายไปที่ตลาดญีปุ่นซึ่งซื้อขายในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่เหลือ 70% ยังรับรู้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ บริษัทจะพยายามเพิ่มยอดอาหารสำเร็จรูปที่มีแบรนด์เนม จะทำให้มีโอกาสปรับราคาขายได้ ที่เริ่มขยายแบรนด์เเนมในตลาดต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพอสมควร รวมถึงการเปลี่ยนตลาดไก่และกู้งแช่แข็งเป็น Niche market ซึ่งสามารถเจรจาปรับราคาได้
ปัจจุบัน CPF มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 20% ขณะเดียวกันมีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพด วิตามิน รวมประมาณ 20% จึงเป็นการ Natural Hedge ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในช่วง 12 เดือนย้อนหลังที่ผ่านมาที่ค่าเงินบาทแข็งค่าประมาณ 12.8% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การส่งออกของ CPF กระทบประมาณ 2% ของมูลค่าส่งออก 2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นตัวเงิน 2.4 พันล้านบาท
นายวีรวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 3/50 อัตรากำไรขั้นต้นเริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้วตามราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับตัวขึ้น หลังจาก ไตรมาส 1/50 ราคาปรับตัวลดลงอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคกังวลปัญหาไข้หวัดนก และปริมาณผลผลิตสุกรล้นตลาด
และเชื่อว่าปีหน้าระดับราคาเนื้อสัตว์จะยังปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปอีกโดยอาจจะอยู่ที่ 10 บาท/กก.จากปัจจุบันที่ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 7-8 บาท/กก. จากปีก่อนที่อยู่ 5-6 บาท/กก. ทั้งนี้เป็นผลจากผู้ผลิตข้าวโพดในสหรัฐฯนำผลผลิตไปใช้ในการผลิตเอทานอลเป็นจำนวนมาก อนึ่ง ข้าวโพดมีสัดส่วน 55% ของการผลิตอาหารสัตว์
ขณะเดียวกัน บริษัทได้ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดทดแทนข้าวนาปรังในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนโครงการคอนแทคฟาร์มมิ่งในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา โดยบริษัทจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตข้าวโพดในราคาตลาด นอกจากนั้นในประเทศจะขยายการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวโพดที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น และช่วยลดภาระค่าขนส่งจากการนำเข้า
นายวีรวัฒน์ กล่าวว่า ในปีหน้าบริษัทลูกของ CPF ในเวียดนามที่ CPF ถือหุ้น 40% คาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น 30% จากปีนี้ที่คาดจะมียอดขาย 2 หมื่นล้านบาท รวมทั้งในต้นปีหน้าในบริษัทในรัสเซียจะสามารถเริ่มการผลิตอาหารสัตว์บกได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ