นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทตั้งเป้าในปี 64 รับรู้รายได้ประมาณ 3.7-3.8 หมื่นล้านบาท เติบโต 5-10% จากปีก่อนที่คาดจะมีรายได้ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทมีงานในมือ (Backlog) แล้วราว 1 แสนล้านบาท
"เราตั้งเป้าปีนี้เติบโตขึ้นไปอีก แต่จากสถานการณ์โควิดในประเทศ มีผลกระทบบ้าง อาจจะโต 5-10% ปกติเราเติบโต 10-20% แต่สิ่งที่มั่นใจเพราะมีงานในมืออยู่แล้ว 1 แสนล้านบาท"นายภาคภูมิ กล่าว
ขณะเดียว บริษัทตั้งเป้าที่จะรับงานใหม่ในปี 64 จำนวน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่ารายได้ จากปีก่อนที่ได้งานใหม่ 4.7 หมื่นล้านบาท โดยปีนี้มีแผนจะเข้าประมูลงานมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาททั้งงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานภาครัฐ
โดยเฉพาะงานของกระทรวงคมนาคมที่มีหลายงานออกมาประมูลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม.กรอบวงเงิน 67,965 ล้านบาท และเส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. กรอบวงเงิน 85,345 ล้านบาท , โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท , โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งมีงานโยธารถไฟฟ้าสายส้มตะวันตก มูลค่างาน 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างรอฟังคำตัดสินของศาลปกครอง, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย (เข้าเมืองทองธานี) กว่า 3 พันล้านบาท รวมทั้งงานที่มีงบประมาณรองรับของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
นอกจากนั้นยังมีโครงการลงทุนดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) มอเตอร์เวย์ เส้นบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) และ เส้นบางปะอิน-นครราชสีมา ที่มีงานก่อสร้างราว 6-7 พันล้านบาท คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาได้ช่วงต้นปี 64 โดยกลุ่ม BGSR ประกอบด้วย BTS (40%), GULF (40%), STEC (10%), RATCH (10%)เป็นผู้ได้งาน
กรรมการผู้จัดการ STEC กล่าวว่า ในส่วนอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit:GP) ในปี 64 เชื่อว่าจะดีกว่าปีก่อนที่คาดอยู่ที่ 5% เนื่องจากงานใน Backlog มีคุณภาพดี และงานก่อสร้างรัฐสภาคาดว่าจะเสร็จสิ้นและส่งมอบได้ครบภายในเดือน เม.ย.64 ทำให้บริษัทจะไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมมากที่จะฉุดมาร์จิ้นลงไป นอกเหนือจากที่บริษัทได้ตั้งสำรองโครงการนี้ไว้แล้ว 3 พันล้านบาทเมื่อ 2-3 ปี ซึ่งจะไม่มีผลขาดทุนจากโครงการดังกล่าว แต่อาจมีค่าใช้จ่ายบ้าง และมาร์จิ้นเป็น 0%
โดยบริษัทได้ยื่นขอทางรัฐสภาเพื่อขยายเวลางานก่อสร้างที่เป็นผลมาจากการติดขัดของรัฐสภาเอง และขอใช้สิทธิจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อขอยกเว้นค่าปรับที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมทั้งขอสงวนสิทธิตามมติ ครม.เรื่องการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทเมื่อปี 56-57 ที่โครงการที่อยู่ในไทยจะให้ยกเว้นค่าปรับ 150 วัน แต่เหตุที่ยังไม่ใช้สิทธิ เพราะต้องการส่งมอบงานสุดท้ายก่อนที่คาดว่าจะส่งมอบได้ในเดือน เม.ย.64 จึงจะใช้สิทธิ ซึ่งระหว่างนี้รอคำตอบจากรัฐสภา ทั้งนี้มั่นใจว่าจะได้รับการยกเว้นค่าปรับ