แหล่งข่าวจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ประเมินว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ที่จะแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในขณะนี้ กรณี Best Case คือการได้วงเงินกู้เข้ามาราว 3-3.2 พันล้านบาท โดยเฉพาะจากเจ้าหนี้เดิมที่ให้ขยายวงเงินสินเชื่อ หรือ กู้จากเจ้าหนี้รายใหม่ ซึ่งจะสามารถรองรับการดำเนินธุรกิจของ AAV ไปได้อีกอย่างน้อย 2 ปีโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสายการบินทั่วโลกในขณะนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ของ AAV เพิ่มขึ้นจาก 2.8 เท่า เป็นมากกว่า 3 เท่า
ส่วนทางเลือกรองลงมา คือ การผสมระหว่างการกู้เงินและการเพิ่มทุน ขณะที่ทางเลือกที่แย่ที่สุด คือ การเพิ่มทุนอย่างเดียวไม่มีเงินกู้
ทั้งนี้ กรณี Best Case ก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้น เพราะ AAV ได้ตัดค่าใช้จ่ายไปมากแล้ว และทิศทางธุรกิจการบินก็ยังมีโอกาสดีในระยะยาว
ด้านนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร AAV ผู้บริหารสายการบินไทยเอเชีย กล่าวยอมรับว่าปี 64 ก็จะยังมีผลขาดทุนต่อเนื่องจากปี 63 อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญขณะนี้คือเรื่องสภาพคล่อง ที่บริษัทอยู่ระหว่างหาแหล่งเงินทุนเข้ามาเสริมสภาพคล่องทั้งจากเงินกู้ และเงินเพิ่มทุน ระหว่างนี้ก็ยังเจรจากันอยู่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้
"ขอให้มีสภาพคล่อง ตอนนี้ยังคุยไม่จบ แต่มั่นใจว่ายังไงเรารอดแน่ ...อยู่ธุรกิจการบินมา 17-18 ปี ผ่านอะไรมาเยอะ แต่ครั้งนี้วิกฤตหนักกว่าครั้งไหนๆ แต่ทุกคนก็เจอกันหมด"
ก่อนหน้านี้ ประธานกรรมการบริหาร AAV ระบุบริษัทมีสภาพคล่องอยู่ได้ถึงเดือนมี.ค.64
นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า บริษัทได้ขอให้พนักงานในสัดส่วนราว 75% พักงานและไม่รับเงินเดือน แต่ยังคงสถานะลูกจ้างไว้ (Leave without Pay) ตั้งแต่เดือน ก.พ.-พ.ค.64 เพราะขณะนี้จำนวนเที่ยวบินลดลงไปมาก หลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศตั้งแต่กลางเดือนธ.ค.63 ส่งผลให้ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารหายไปมาก ซึ่งเหลืออยู่ประมาณ 20% รวมถึงการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Cargo) ก็ลดลงไปด้วยเช่นกัน แม้จะมีรายได้อื่นเข้ามาเช่น การขายชานมไข่มุก แต่ก็มีรายได้ไม่มากพอ