นายบุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างศึกษาการใช้ช่องทางกฎหมายเพื่อฟ้ององค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นผู้นำเข้าวัคซีนโควิด-19 ไม่เป็นธรรม ซึ่งบริษัทหรือโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ ก็สามารถร้องเรียนได้ หากมองว่าการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดส ของแอสตรา เซนเนกา ที่ภาครัฐเตรียมนำเข้ามา มีความไม่ยุติธรรม ขณะที่บริษัทต้องการเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งกระบวนการขึ้นทะเบียนวัคซีน และเปิดทางให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนได้เองโดยเร็วที่สุด
บริษัทมองว่าปัจจุบันความต้องการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ มีอยู่มาก และเป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการนำวัคซีนเข้ามาเพื่อจัดสรรให้กับโรงพยาบาลเอกชนด้วย เพื่อทำให้บุคคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน และประชาชนทั่วไปสามารถได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศให้ลดลง และป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19ของบุคคลากรทางการแพทย์ทุกคน ไม่จำกัดเฉพาะในกลุ่มบุคคลากรของโรงพยาบาลรัฐ
ขณะเดียวกัน บริษัทมองว่ากระบวนการในการขึ้นทะเบียนวัคซีนจากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยในปัจจุบัน ถือว่ามีความล่าช้าค่อนข้างมาก ทำให้โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ที่ได้สั่งซื้อวัคซีนกับบริษัทผู้ผลิตไว้ล่วงหน้าแล้วไม่สามารถนำเข้ามาได้ เนื่องจากทาง อย.ไทยยังไม่ขึ้นทะเบียน แม้ทางบริษัทผู้ผลิตพร้อมที่จะจัดส่งวัคซีนมาให้กับโรงพยาบาลทันทีที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง บริษัทจึงมองว่ากระบวนการต่างๆ ในการขึ้นทะเบียนและการนำเข้าวัคซีนควรปรับเปลี่ยนและผ่อนคลายบางกฎเกณฑ์เพื่อทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนเข้ามาใช้รวดเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความคืบหน้าจากทางภาครัฐออกว่าจะมีการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 จากแอสตรา เซนเนกา ภายในสัปดาห์นี้ แต่จำนวนวัคซีนที่ภาครัฐจะนำเข้ามา โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้นำเข้า จำนวน 2 ล้านโดส เป็นจำนวนที่น้อยมาก และคนที่เข้าถึงวัคซีนในล็อตแรกนี้มีเฉพาะในวงจำกัด จึงยังไม่สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์บุญ มองว่า หากทางภาครัฐจะให้องค์การเภสัชเป็นผู้นำเข้าวัคซีนจากแอสตราเซนเนกา ควรมีจำนวนมากกว่า 8 ล้านโดส เพื่อนำส่วนหนึ่งมากระจายให้กับโรงพยาบาลเอกชนด้วย เพื่อให้นำไปฉีดให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ และให้บริการกับประชาชนทั่วไป เพื่อให้มีประชาชนได้รับวัคซีนเป็ฯวงกว้างขึ้นกว่าที่ภาครัฐจะดำเนินการเองทั้งหมด
สำหรับวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนอื่นๆที่ยังไม่มีความคืบหน้าออกมา อยากให้ภาครัฐต้องหาแนวทางในการเร่งปรับกระบวนการการอนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เร็วขึ้น เพราะปัจจุบันหากทางโรงพยาบาลเอกชนจะต้องรอการนำเข้าวัคซีนไปถึงปลายเดือน ก.พ. 64 ถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานเกินไป เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนต่างมีความพร้อมแล้ว เพียงแต่รอขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเท่านั้น หรืออีกแนวทางหนึ่งในการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวกจากจีน ซึ่งภาครัฐมีข้อตกลงแบบ G2G อยู่แล้ว จะสามารถหาแนวทางในการอนุมัติวัคซีนให้เร็วขึ้น และนำเข้ามาได้เร็วที่สุดหรือไม่
"การนำเข้าวัคซีนจากแอสตรา เซนเนกาของภาครัฐ ที่ให้องค์การเภสัชฯเป็นคนนำเข้ามา 2 ล้านโดส ไม่ค่อยยุติธรรมกับโรงพยาบาลเอกชน เพราะวัคซีนที่เข้ามาเป็นจำนวนที่น้อยมาก และคนที่ได้รับวัคซีนก็อยู่ในวงจำกัด และโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆที่สั่งซื้อวัคซีนจากเจ้าอื่นๆก็ยังไม่สามารถนำเข้าวัคซีนได้ อย่างเราเตรียมพร้อมสั่งซื้อวัคซีนจากซิโนแวกอยู่แล้ว ซึ่งทางผู้ผลิตเขาก็พร้อมที่จะส่งเข้ามา แต่เราก็ไม่สามารถทำได้ เพราะอย.ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนตัวอื่น
และกระบวนการขึ้นทะเบียนช้ามาก อยากให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์หรือหาแนวทางที่รวดเร็วมากขึ้น ทำให้วัคซีนอื่นๆสามารถนำเข้ามาได้เร็ว และกระจายวัคซีนให้กับโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆไปใช้ หากภาครัฐจะนำเข้ามาล็อตแรกก็ควรนำเข้ามา 8 ล้านโดสแล้วแบ่งมากระจายให้กับโรงพยาบาลเอกชนด้วย เพราะตอนนี้วัคซีนที่โรงพยาบาลเอกชนเตรียมสั่งซื้อเข้ามาก็ยังทำไม่ได้ และเราก็รอไม่ไหวถึงปลายเดือน ก.พ. อยากให้เร็วที่สุดภายในเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งหากปล่อยแบบนี้ไปนานเกินไปก็เป็นความเสี่ยงในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19
หากบุคคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เราติดโควิด-19 เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลศิริราชแล้วใครจะมาช่วยดูแลคนไข้ ซึ่งมันก็เหมือนสงครามที่เราต้องรีบได้อาวุธมาต่อสู้กับศัตรูให้เร็วที่สุด แต่องค์การเภสัชฯจะนำเข้ามา 2 ล้านโดสเท่านั้น เราก็คงต้องร้องเรียน เพราะถ้าในเบื้องต้นจะไปฟ้องเลยก็อาจจะไม่ได้ ซึ่งตอนนี้เราก็ดูข้อกฎหมายอยู่ หากสามารถฟ้องได้เราก็จะดำเนินการฟ้ององค์การเภสัชฯ ที่นำเข้าวัคซีนมาอย่างไม่ยุติธรรม"นายแพทย์บุญ กล่าว