นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รวมปี 64 แตะระดับ 1.2 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่ยังมาจากธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า 900 ล้านบาท และธุรกิจเทรดดิ้ง 300 ล้านบาท หลังจากวางกลยุทธ์เชิงรุกเจาะตลาดทั้งในธุรกิจการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า การให้บริการ และธุรกิจเทรดดิ้ง จากการเป็นตัวแทนจำหน่ายโซลาร์เซลล์ ให้กับ LONGI Solar การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Huawei Solar Inverter ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์การเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรง(DC) ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ(AC) เพื่อใช้กับแผงโซลาร์เซลล์ รวมไปถึงการจำหน่าย DE BUSDUCT ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันบริษัทมีคำสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาแล้ว ทำให้ล่าสุดมียอดขายต่อเนื่องจากปีก่อนจนถึงปัจจุบันกว่า 320 ล้านบาท แบ่งเป็น ยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าต่างประเทศ จำนวน 200 ล้านบาท ยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศ จำนวน 90 ล้านบาท และจากเทรดดิ้ง ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ ให้กับ LONGI Solar จำนวน 30 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อเซ็นสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ กับพันธมิตรอีก 2 ราย คาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจุดเด่นของแผงโซลาร์เซลล์ ที่บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่าย ให้กับ LONGI Solar Technology Co., Ltd. นั้น คือเป็นแผงโซลาร์ฯ Tier 1 ที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดด้วยโมดูลเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Half-Cut Technology ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดถึง 98% และยังสามารถสร้างพลังงานได้แม้ในภาวะแสงน้อย และสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าออกมาได้ต่อเนื่องยาวนานกว่า 25 ปี และในปีนี้ จะเปิดตัวแผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 540 W เพื่อวางจำหน่ายในประเทศไทยต่อไป จากปัจจุบันมีขนาดสูงสุด 450 W
"ต้องยอมรับว่า LONGI Solar Technology Co., Ltd. เป็นผู้ประกอบการรายแรกและใหญ่ที่สุดที่มีการพัฒนานวัตกรรมขนาดแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งานของแผงโซลาร์ฯ ได้มากขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยให้ผู้ลงทุนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น จากพื้นที่การติดตั้งเท่าเดิม ซึ่งถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะยาว"นายพูลพิพัฒน์ กล่าว
นายพูลพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ปีนี้ถือเป็นปีแห่งการทดสอบความแข็งแกร่งทางธุรกิจอีกปีหนึ่ง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบแรกจนถึงรอบใหม่ที่กระจายเพิ่มขึ้นในขณะนี้ แม้จะทำให้บริษัทได้รับผลกระทบในเชิงการขนส่งสินค้าอยู่บ้าง แต่ในส่วนของยอดขายยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีคำสั่งซื้อเข้ามาตั้งแต่ต้นปีถึง 200 ล้านบาท เพราะมีการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบ Smart transformer ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจเช็คคุณภาพการทำงานของหม้อแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะหม้อแปลง Super Low Loss (Amorphous)ที่บริษัทเป็นผู้ผลิตซึ่งเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ ลาว เป็นต้น
สำหรับภาพรวมธุรกิจหม้อแปลงในประเทศนั้น ยังคงขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนภาคการลงทุนภายในประเทศ และการเปิดประมูลงานของภาครัฐที่ทยอยออกมา อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน การส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นตัวต่อยอดที่ทำให้เกิดความต้องการใช้หม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีแผนการเข้าประมูลงานการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มูลค่ารวมประมาณ 1,500 ล้านบาท และคาดว่าจะได้งานไม่น้อยกว่า 10% ของมูลค่างาน ซึ่งคาดว่าจะทยอยประกาศผลออกมาในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้