CPF ชูเศรษฐกิจหมุนเวียน ขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายความยั่งยืนในปี 73

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 21, 2021 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

CPF ชูเศรษฐกิจหมุนเวียน ขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายความยั่งยืนในปี 73

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทฯ มีแผนประกาศกลยุทธ์และเป้าหมายด้านความยั่งยืน ภายในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030) โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดซื้อวัตถุดิบในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มุ่งเน้นกระบวนการผลิตอาหารยั่งยืน การลดปริมาณอาหารสูญเสียในกระบวนการผลิต และขยะอาหาร และการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในส่วนของนโยบายด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ยังคงดำเนินการตามนโยบายต่อเนื่องจากปี พ.ศ. 2563 โดยธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) ฟาร์มปศุสัตว์ (Farm) และ ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป (Food) ปัจจุบันสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 26% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของซีพีเอฟ ซึ่งมาจากโครงการโซล่าร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) ติดตั้งบนหลังคาโรงงานและอาคารสำนักงาน 24 แห่ง และ โครงการโซล่าร์ ฟาร์ม (Solar Farm) แบบติดตั้งบนพื้นดินในฟาร์มสุกร 16 แห่ง ซึ่งจะขยายสู่ทุกฟาร์มสุกรของซีพีเอฟทั่วประเทศ

นโยบายลดการใช้พลาสติกยังเป็นเรื่องหลักที่ต้องดำเนินการตามนโยบายและแนวปฏิบัติด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นำมาใช้สำหรับกิจการในประเทศไทย จะต้องนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) หรือนำมาใช้ใหม่ (Recyclable) หรือนำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ (Upcyclable) หรือย่อยสลายได้ (Compostable) 100 % ภายในปี พ.ศ. 2568 และสำหรับกิจการในต่างประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2573 ขณะที่ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทฯสามารถนำมาใช้ซ้ำและนำมาใช้ใหม่ได้ 99.99 %

ด้านกระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน บริษัทฯ ได้ประกาศนโยบายการจัดการอาหารสูญเสียและขยะอาหาร (Food Loss and Food Waste Policy) ในปีที่ผ่านมาให้ความสำคัญในการลดปริมาณการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิต และของเสียจากการเหลือทิ้ง โดยทำโครงการนำร่องในธุรกิจไก่เนื้อและไก่ไข่ เพื่อเป็นต้นแบบของการดำเนินงานให้กับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ

นายวุฒิชัย ยังได้กล่าวถึง ภาพรวมการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในปี 2563 บริษัทฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 4 ด้านหลัก ได้แก่ ลดปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิต 15% เมื่อเทียบปีฐาน 2558 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิต 15% เทียบปีฐาน 2558 ลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิต 25% เทียบปีฐาน 2558 มาจากการลดการนำน้ำมาใช้ของสายธุรกิจสัตว์น้ำ โดยใช้ระบบหมุนเวียนน้ำในฟาร์มกุ้ง และการลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยการฝังกลบต่อหน่วยการผลิต 30% เทียบปีฐาน 2558

นอกจากนี้ บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัตถุดิบทางการเกษตร ไม่ได้มาจากแหล่งที่มีการบุกรุกป่า โดย 100% ของคู่ค้าธุรกิจหลักในกลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครื่องปรุง และบรรจุภัณฑ์ได้รับการตรวจประเมินด้านความยั่งยืน พร้อมกันนี้ ซีพีเอฟส่งเสริมคู่ค้าธุรกิจปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานตามหลักสากลในด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงกลุ่มเปราะบางได้รับการส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า 50,000 ราย เป็นต้น

"ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซีพีเอฟ ยังคงให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการใช้มาตรการป้องกันความปลอดภัยสูงสุดกับพนักงาน แรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ คู่ค้าและในกระบวนการผลิตเพื่อให้การผลิตอาหารดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจให้กับคนไทยและประชากรโลกได้เข้าถึงอาหารที่มีสุขโภชนาการและสุขภาวะที่ดีอย่างเพียงพอในทุกสถานการณ์ โดยสนับสนุนอาหารให้กับแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลของรัฐที่มีผู้ป่วยโควิด ผู้กักตัว ฯลฯ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดการแพร่กระจายของโรค" นายวุฒิชัย กล่าว

ซีพีเอฟ กำหนดเป้าหมายดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดิน น้ำ ป่า คงอยู่ โดยมีการทบทวน ปรับปรุง และพัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานต่อสาธารณชน ผ่านการจัดทำรายงานความยั่งยืนประจำปี ซึ่งในปี 2563 จัดทำรายงานเป็นปีที่ 7 และในปีนี้ ซีพีเอฟยังคงเดินหน้าสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนไทยและประชากรโลก โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาพัฒนาใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมมุ่งมั่นสนับสนุนเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นองค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net ? Zero Carbon) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ