"เรามีการลงทุนโรงงานผลิตไก่ปรุงสุกไปตั้งแต่ปี 61 ซึ่งก็มีการเติบโตดับเบิ้ลไปสองรอบแล้ว โดยปีก่อนหน้านี้ 5,000 ตัน/ปี, ปีที่แล้ว 10,000 ตัน/ปี และปีนี้ก็คิดว่าจะได้ 15,000 ตัน/ปี เนื่องจากเรามีการเติบโตในลูกค้าเดิม โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เรามีลูกค้าที่เป็น Exclusive อยู่ หรือเราซัพพลายให้เขาเจ้าเดียว และเขาก็เติบโตได้ดีในส่วนที่เป็นคอนวีเนียนสโตร์ เนื่องจากเรามีการผลิตสินค้าที่ค่อนข้างพิเศษหรือจำเพาะกับเขา รวมถึงวิจัยและพัฒนาด้วยกัน จึงทำให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และส่งผลให้เราเติบโตได้ดี" นายเพชร กล่าว
ทั้งนี้ ธุรกิจสุกร ทั้งในประเทศไทยและเวียดนามก็ถือว่าเป็น Growth Driver ที่สำคัญในปีนี้ โดยบริษัทฯ คาดว่าจะมีรายได้เติบโต 20-25% จากในประเทศโต 15% และเวียดนามเติบโตเป็นเท่าตัว เนื่องจากซัพพลายสุกรยังขาดแคลนทั้งในภูมิภาค เช่น จีน, เวียดนาม หรือใน CLMV รวมถึงฟิลิปปินส์ สืบเนื่องจากปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever:ASF) แม้ว่าปีนี้จีนจะดูฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้างพอสมควร แต่โดยรวมทั้งภูมิภาคสุกรก็ยังลดลง หรือซัพพลายยังน้อยกว่าดีมานด์ และราคาสุกรก็อยู่ในระดับสูง
นายเพชร เปิดเผยว่า บริษัทจึงมีแผนลงทุนขยายฟาร์มสุกรในปีนี้ โดยวางเป้าเติบโต 30% จากปัจจุบันที่มีการจำหน่ายสุกรอยู่ที่ 100,000 ตัว/เดือน รวมถึงลงทุนโรงชำแหละสุกร และโรงงานอาหารสัตว์ เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยวางงบลงทุนไว้ราว 2,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว บริษัทยืนยันว่าไม่ได้กระทบกับภาพรวมธุรกิจมากนัก แม้ยอดขายใน Food Service จะปรับตัวลงไป 40-50% ในช่วงล็อกดาวน์ แต่ TFG ก็สามารถปรับเปลี่ยนแผนหันไปจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดเพิ่มขึ้นแทน
ด้านธุรกิจอาหารสัตว์และอื่นๆ โดยปกติจะเติบโตในระดับ 10% แม้สถานการณ์โควิด-19 จะกระทบกับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยให้ปรับตัวลดลง จากความกังวลต่อการระบาดฯ ที่รวดเร็ว รวมถึงหาสายพันธุ์สุกรไม่ได้ เนื่องจากราคาแม่พันธุ์และลูกสุกรค่อนข้างแพงมาก แต่อาหารสัตว์โดยรวมยังโตได้จากการเพิ่ม SKU ใหม่ในสัตว์สายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยทำ เช่น อาหารวัว, เป็ด, แม่ไก่ไข่ เป็นต้น
นายเพชร กล่าวว่า ส่วนโครงการร่วมลงทุนในบริษัท ทีเอฟ เทค จำกัด (TF Tech) ระหว่าง TFG และบมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เพื่อก่อสร้างและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ (Floating Solar) ในพื้นที่ของ TFG และบริษัทในเครือ เฟสแรกในโรงงาน 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงชำแหละไก่กาญจนบุรี, โรงชำแหละไก่ กบินทร์บุรี, โรงอาหารสัตว์ สุพรรณบุรี และโรงอาหารสัตว์ กบินทร์บุรี ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 13.78 เมกะวัตต์ ได้เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนพ.ย.63 ที่ผ่านมา
และในปีนี้ก็จะมีการลงทุนต่อเนื่องในเฟสที่ 2 โดยเตรียมขยายไปสู่ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) บนหลังคาที่จอดรถและโรงงาน TFG จ.กาญจนบุรี คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในปี 65 ลงเหลือ 50-60 ล้านบาท/ปี จากปัจจุบันที่ได้ดำเนินการในเฟสแรกไปแล้วสามารถประหยัดได้ 15-20 ล้านบาท/ปี โดยทั้งหมดนี้จะใช้งบลงทุนรวม 300-500 ล้านบาท
อนึ่ง TF Tech จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดยสัดส่วนการถือครองหุ้น ประกอบด้วย TFG 40%, EA 40% และบุคคลธรรมดา 20%