บมจ.ไทยออยล์(TOP)คาดกำไรสุทธิปี 50 มีโอกาสสูงใกล้เคียงปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกมีกำไรแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาทเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แม้ว่าในไตรมาส 4/50 มีกำหนดปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วง 6 ต.ค.-10 ธ.ค. 50 ก็ตาม ส่วนโรงงานปิโตรเคมีเลื่อนปิดซ่อมบำรุงไปเป็นวันที่ 11 ม.ค.- 15 มี.ค.51 จากเดิมวางแผนปิดช่วงเดียวกับโรงกลั่น
ส่วนค่าการกลั่นในปี 50 คาดว่าจะอยู่ในระดับเฉลี่ยที่ 6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกค่าการกลั่นเฉลี่ยจะสูงถึง 9.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังคงจะไม่สูงเท่าช่วงครึ่งปีแรก
ในปี 51 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 35% จากปี 50 เนื่องจากมีกำลังการผลิตโรงกลั่นเพิ่มขึ้นอีกราว 5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน เป็น 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน
"ปีหน้าหลังจากเราปิดซ่อมบำรุงเพื่อขยายกำลังการผลิต และเราเดินเครื่องเต็มปีจะทำให้เรามีรายได้และกำไรสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา" นายวิโรจน์ มาวิจักขณ์ กรรมการอำนวยการ TOP กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวว่า การปิดโรงกลั่นน้ำมันดิบหน่วยที่ 3 (CDU-3)ในช่วงไตรมาส 4 นี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตที่จะลดลงเพียง 30% เนื่องจากบริษัทได้มีการสต็อกน้ำมันบางส่วนไว้แล้ว โดยน้ำมันดีเซลสต็อกไว้ 100 ล้านลิตร น้ำมันอากาศยาน 40 ล้านลิตร และ น้ำมันเตา 5.4 แสนลิตร
และในส่วนโรงงานปิโตรเคมีที่จะมีการปิดปรับปรุงในช่วงไตรมาส 1/51 เพื่อขยายการผลิตสารมิกซ์ไซลีน(MX)เป็น 1.5-1.6 พันตัน/วัน จาก 1.1-1.2 พันตัน/วัน และขยายการผลิตพาราไซลีนเป็น 1.5-1.6 พันตัน/วัน จาก 1.3 พันตัน/วัน
"การที่เราเลือกปิด Shutdown ในไตรมาส 4 เป็นช่วง low season ของธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี โดยมาร์จิ้นก็จะต่ำกว่าไตมาสอื่น ซึ่งในปี 49 ไตรมาส 4 มีมาร์จิ้นต่ำอยู่ประมาณ 0.7 เหรียญ/บาร์เรล และในปีนี้ไตรมาส 4 ก็น่าจะมีมาร์จิ้นต่ำระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้ว"นายวิโรจน์ กล่าว
ช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมไว้ชดเชยกำลังผลิตที่จะหายไปในช่วงปิดซ่อมบำรุงไตรมาส 4/50 โดยการผลิตเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 110% ในเดือน ส.ค.50
นายวิโรจน์ กล่าวว่า หากในปี 50 บริษัทสามารถทำกำไรได้ใกล้เคียงกับปีก่อน ก็จะจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราเดียวกันคือ 3.50 บาท/หุ้น โดยในงวดครึ่งปีแรกบริษัทจ่ายปันผลระหว่างกาลในอัตรา 1.75 บาท/หุ้น
ส่วนการเข้าประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP นายวิโรจน์ กล่าววว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประเมินว่าจะยื่นประมูลจำนวน 1 หรือ 2 โรง ซึ่งตามแผนงานกำหนดไว้ขนาดโรงละ 800 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้บริษัทมีความพร้อมเต็มที่แล้ว 1 โรงที่จะเข้ายื่นประมูลแน่นอน แต่กำลังลังเลการยื่นประมูลโรงที่ 2 เพราะอยู่ระหว่างเจรจาผู้รับเหมาในการสร้างสายส่ง ซึ่งขณะนี้ราคาปรับสูงขึ้น
"ถ้ายื่นสองโรงแล้วทำให้ต้นทุนของบริษัทถูกว่ายื่นโรงเดียวก็จะยื่นประมูล 2 โรง โดยปกติการลงทุนอยู่ที่ 400-500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อโรง"นายวิโรจน์ กล่าว
สำหรับธุรกิจเอทานอลที่บริษัทชะลอแผนการผลิตไปนั้น เนื่องจากภาครัฐยังไม่มีนโยบายชัดเจนเกี่ยกับการสนับสนุนการผลิตเอทานอล ต้องรอความชัดเจนก่อนจึงจะทบทวนแผนการลงทุน
นายวิโรจน์ ยังกลาวถึงแผนออกหุ้นกู้ 500 ล้านเหรียญสหรัฐที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นให้ดำเนินการนั้น ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดแน่นอน เพราะบริษัทยังมีกระแสเงินสดเพียงพอในการลงทุน
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--