นายวสันต์ อิทธิโรจนกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไพโอเนียร์ มอเตอร์ (PIMO) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ากำไรสุทธิในปี 64 จะทำได้มากกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นการทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ต่อเนื่องจากปี 63 ที่คาดว่าจะมีกำไร 85-90 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดดจากปี 62 ที่มีกำไร 28 ล้านบาท หลังจากงวด 9 เดือนแรกของปี 63 มีกำไรสุทธิ 63 ล้านบาท และคาดว่าไตรมาส 4/63 จะมีกำไรสุทธิสูงกว่า 3 เท่าจากไตรมาส 4/62 ที่มีกำไร 5 ล้านบาท
"ปี 63 ทำนิวไฮ ปี 64 ก็น่าจะทำนิวไฮต่อ เพราะปีก่อนเราโตจากส่งออก ขณะที่ domestic เราย่ำแย่ ยอดขายเราก็ไม่ได้โตขึ้นเยอะ ยอดขายทั้งปี 63 โตประมาณ 20% แต่เนื่องจากมีสัดส่วนยอดขายสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง จึงส่งผลดีต่อกำไร" นายวสันต์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
สำหรับปี 64 นี้ คาดว่ารายได้จากยอดขายจะเติบโตอย่างน้อย 20-25% โดยเฉพาะจะมาจากการส่งออกที่คาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 49% จาก 15% ปี 63 จากนั้นในปี 65 ก็จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 60% หลังจากได้รับคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) เข้ามามาจากลูกค้าในสหรัฐ ซึ่งบริษัทได้ขยายกำลังการผลิตมารองรับเป็น 120 ลูก/วัน
ส่วนตลาดในประเทศคาดว่าช่วงครึ่งปีแรกยังจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะฟื้นกลับมาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาพรวมทั้งปีประเมินลูกค้าทั่วไปในประเทศคงจะไม่ได้เติบโตจากปีก่อน
นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปีนี้บริษัทจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการที่สหรัฐเตรียมประกาศห้ามจำหน่ายมอเตอร์ความเร็ว 1 รอบ single speed motor (AC) ที่ใช้กับสระว่ายน้ำ โดยจะต้องใช้มอเตอร์ความเร็วปรับรอบได้ variable speed motor (DC) หรือมอเตอร์ชนิดพิเศษ คือ BLDC ตั้งแต่ในวันที่ 18 ก.ค.64 เนื่องจากบริษัทมีนวัตกรรมผลิตมอเตอร์ BLDC ที่สามารถประหยัดพลังงานได้มากตามนโยบายของรัฐบาลสหรัฐหลังจากได้ซื้อสิทธิบัตรการผลิตมอเตอร์ BLDC ที่ยังมีอายุเหลืออีก 14 ปีเข้ามา
ขณะที่ปริมาณสระว่ายน้ำส่วนตัวในสหรัฐมีอยู่ราว 10 ล้านแห่ง และที่สำคัญคู่แข่งหายไปจากตลาดมาก จากที่เคยมี 40-50 ราย เหลือเพียง 3 ราย โดย 2 รายเป็นผู้ผลิตในสหรัฐ เนื่องจากมีผู้ผลิตที่มีเทคโนโลยีการผลิต BLDC ไม่มากนัก ซึ่งบริษัทเป็นเพียงบริษัทผลิตและส่งออกไปสหรัฐรายเดียวในเอเชีย แม้แต่จีนก็ยังผลิตไม่ได้ ส่งผลให้บริษัทมีคำสั่งซื้อจากสหรัฐเพิ่มเข้ามามากในปี 63 จากที่ไม่เคยมียอดขายในสหรัฐเลย
นอกจากนั้น มอเตอร์ประเภท BLDC มีราคาสูงกว่ามอเตอร์ AC ประมาณ 4 เท่า ทำให้กำไรสุทธิในปี 63 ดีขึ้นมาก โดยอัตรากำไรสุทธิเพิ่มมาเป็น 10% จากเดิมอยู่ที่ 4%
นายวสันต์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในตลาดมอเตอร์ประเภท AC ในสหรัฐ บริษัทไม่สามารถขายได้ แม้ว่าจะมีผู้ผลิตมากถึง 16 ราย เพราะราคาแพงกว่าคู่แข่งอย่างจีนมาก เมื่อเปลี่ยนเป็นมอเตอร์ BLDC จึงมีผู้ผลิต 1 รายสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท ซึ่งลูกค้ารายนี้ได้เพิ่มออเดอร์ขึ้นมา 120 กว่าลูก/วัน จาก 50-70 ลูก/วัน จึงได้เพิ่มกำลังการผลิตรองรับ ทั้งนี้ บริษัทเห็นว่ายังเห็นตลาดในสหรัฐเป็นตลาดที่ใหญ่มาก หากกฎหมายมีผลบังคับใช้มอเตอร์ BLDC ผู้ผลิตทั้ง 16 รายก็ต้องหันมาใช้มอเตอร์ BLDC บริษัทจึงยังมีโอกาสที่ขายได้เพิ่มขึ้น
ช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้เพิ่มกำลังการผลิตมอเตอร์ BLDC จาก 50-70 ลูก/วัน เป็น 120 ลูก/วัน โดยได้ลงทุนไปแล้ว 100 ล้านบาทในปี 63 และในปีจะลงทุนต่อเนื่องอีกกว่า 100 ล้านบาทเพื่อขยายกำลังการผลิตมอเตอร์ประเภท AC เพิ่มเป็น 1 แสนลูก/เดือน จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 6.6 หมื่นลูก/เดือน โดยจะปรับพื้นที่คลังสินค้าจาก 2,800 ตร.ม.เป็น 6,000 ตร.ม.คาดว่าจะใช้เงิน 30-40 ล้านบาท และจะเข้าไปซื้อคืนโรงงานเก่าของบริษัทที่อยู่ใกล้โรงงานเดิมกลับมา โดยอยู่ขั้นตอนเจรจาราคา คาดว่าจะใช้เวลาขยายการผลิตราว 1 ปี ใช้แหล่งเงินจากเงินทุนที่มีอยู่ประมาณ 150 ล้านบาท และยังมีวงเงินสินเชื่อสถาบันการเงินมีประมาณ 1 พันล้านบาท หากไม่พอก็สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินรูปแบบอื่น เช่น วอร์แรนต์
ระหว่างนี้โรงงานปัจจุบันก็จะทำงานล่วงเวลาไป และบางส่วนจ้าง outsouce ผลิตไปพลางก่อน ซึ่งในเดือน ม.ค.64 มีการผลิต 9.5 หมื่นลูก/เดือน, เดือน ก.พ.64 จะผลิตได้กว่า 8 หมื่นลูก/เดือน และ ในเดือน มี.ค.64 จะผลิตได้กว่า 7 หมื่นลูก/เดือน
ดังนั้น ผลประกอบการของ PIMO ในปีนี้จะเติบโตด้วยมอเตอร์ BLDC และ AC เป็นหลัก โดยตลาดมอเตอร์ AC ในประเทศจะเติบโตขึ้นจากลูกค้ารายใหญ่เพิ่มคำสั่งซื้ออีก 40% และลูกค้าสหรัฐที่มีคำสั่งมอเตอร์ AC ใช้กับพัดลมเพิ่มคำสั่งซื้อเป็น 5 รุ่นจาก 2 รุ่น
รวมถึงตลาดมอเตอร์สำหรับสระว่ายน้ำในออสเตรเลียยังเป็นมอเตอร์ AC ซึ่งมีผู้ผลิตรวม 8 ราย โดยใน 6 รายสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท โดยมียอดขาย 400-500 ลูก/วัน โดยคาดว่าจะมีออเดอร์เพิ่ม และมีแนวโน้มที่ทางภาครัฐออสเตรเลียจะเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ BLDC ในปี 65 รวมถึงมีแนวโน้มที่แคนาดาและยุโรปจะเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ BLDC ในปีนั้นด้วย
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาสินค้าใหม่ เนื่องจากมีข้อมูลจากฝ่ายขายในสหรัฐว่าสินค้าตัวต่อไปที่เข้าข่ายประเภทประหยัดพลังงาน (Conservative Energy) และเกี่ยวข้องกับบริษัท ได้แก่ มอเตอร์เครื่องปรับอากาศ ซึ่งบริษัทจะพัฒนาต่อยอดจากมอเตอร์สระว่ายน้ำ และอยู่ระหว่างจดทะเบียนสิทธิบัตรในสหรัฐ คาดว่าจะใช้ระยะเวลเวลา 1 ปี แต่คงต้องรอให้สหรัฐออกกฎหมายจึงจะผลิต เพราะมอเตอร์ใหม่นี้มีราคาต้นทุนและราคาขายสูงกว่าเดิมมาก
ด้านตลาดมอเตอร์เครื่องปรับอากาศในประเทศคงจะชะลอตัวตามยอดขายของผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศที่หดตัวลงมากถึง 20-40% เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 และเครื่องปรับอากาศจากจีนเข้ามาดัมพ์ราคาด้วยหลังจากส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ อย่างไรก็ตามคาดว่าตลาดในประเทศในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะฟื้นตัว
นายวสันต์ ยังเปิดเผยอีกว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการผลิตมอเตอร์สำหรับรถไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นมอเตอร์ประเภท BLDC ที่บริษัทมีสิทธิบัตรอยู่แล้ว โดยได้หารือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อขอการสนับสนุน ซึ่งมีหลายโรงงานในไทยกว่า 10 รายยื่นขอไปเช่นกัน และสวทช.จะคัดเลือกรายใดรายหนึ่ง ขณะที่ PIMO เป็นรายเดียวที่มีองค์ความรู้เรื่องมอเตอร์ BLDC จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี โดยหากได้รัฐบาลเข้ามาส่งเสริมก็จะช่วยทำให้ตลาดรถ EV เกิดขึ้นได้ เพราะหากปล่อยให้แข่งกับจีน บริษัทในไทยก็คงสู้ไม่ได้
พร้อมกันนั้น บริษัทก็ยังมองหาลูกค้าหรือผู้ผลิตรถ EV ในไทยจะร่วมมือกัน ทั้งนี้เพื่อตัดสินว่าจะเลือกผลิตมอเตอร์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เบื้องต้นได้เข้าไปพูดคุยกับทาง บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) บ้างแล้ว เชื่อว่าผู้ผลิตรถจะพิจารณาทั้งราคาและคุณภาพของมอเตอร์ โดยอยู่ระหว่างการทำ R&D ที่จะต้องร่วมมือกับลูกค้า เพราะด้านความสามารถการผลิตบริษัทมั่นใจทำได้ "มอเตอร์ EV ต่อให้วันนี้เราทำได้ ไม่ได้แปลว่าเราจะขายได้ กว่าจะขายได้คืออีก 3 ปีข้างหน้า เราอยากสื่อให้รัฐบาลได้รู้กลายๆว่า โรงงานที่พร้อมผลิตมอเตอร์ BLDC EV มอเตอร์ได้ คือ ไพโอเนียร์ เราพร้อมที่จะทำถ้ารัฐสนับสนุนให้โครงการรถไฟฟ้าเกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ supply chain ของการผลิต EV ในประเทศไทย ทำวันนี้กว่าจะเห็นผล 2-3 ปี เพราะต้องดูนโยบายภาครัฐผลักดัน"นายวสันต์ กล่าว