KBANK แนะปีนี้เพิ่มสัดส่วนลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงจากแผนกระตุ้นศก.ทั่วโลกหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 27, 2021 14:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ในปี 63 ที่ผ่านมาราคาสินทรัพย์ต่างๆทั่วโลกต่างปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น และ คริปโทเคอร์เรน จากการมองโอกาสของนักลงทุนที่เข้าลงทุนในช่วงที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลดลงในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ที่เริ่มขึ้นเมื่อช่วงต้นปีก่อน

ประกอบการที่ประเทศต่างๆ ยังคงอัดฉีดเม็ดเงินออกมาในระบบปริมาณสูงมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อเก็งกำไร ทำให้ตลาดหุ้นและการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมาก สวนทางกับพื้นฐานเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารมองว่าการเกิดภาวะฟองสบู่ในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง อาจจะต้องพิจารณาแยกในแต่ละกลุ่มตามปัจจัยพื้นฐานที่เกิดขึ้นกับสินทรัพย์นั้นๆ โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้น แม้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะปรับเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมาก หลังจากปรับตัวลดลงไปแรงในช่วงต้นปี 63 โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรป กลับมาทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา การที่จะกลายเป็นภาวะฟองสบู่นั้นมองว่าอาจจะเกิดขึ้นกับบางกลุ่มธุรกิจเท่านั้น โดยจะต้องพิจารณาว่าระดับราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นสะท้อนความเป็นจริงของกำไรที่ธุรกิจนั้นๆ ทำได้หรือไม่

โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯที่ราคาเพิ่มขึ้นสูงมาต่อเนื่อง ที่เห็นได้ชัด คือ Tesla ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปสูงมาก ทำให้หลายคนต่างมีมุมมองว่าหุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐฯเริ่มเกิดภาวะฟองสบู่แล้ว แต่หากมองที่กำไรจะเห็นได้ว่าหลายบริษัทก็เริ่มมีกำไรเติบโตขึ้นแล้ว ซึ่งสะท้อนภาพแนวโน้มที่ผลการดำเนินงานที่สอดคล้องไปกับการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น

สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้นมองว่ายังไม่อยู่ในภาวะฟองสบู่ แม้ว่าจะปรับตัวขึ้นมาพอสมควร แต่ยังปรับขึ้นมาน้อยกว่าตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ แม้ว่าราคาหุ้นในปัจจุบันจะค่อนข้างแพงและตึงตัวแล้วก็ตาม แต่ยังมีความเป็นตลาดหุ้นที่ Laggard ด้วยการฟื้นตัวช้ากว่า เนื่องจากหุ้นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจดั้งเดิม (Old Economy) ที่ผันผวนไปตามวัฏจักรของเศรษฐกิจ และกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มพลังงาน ธนาคาร และค้าปลีก ซึ่งทิศทางของผลการดำเนินงานจะผันแปรไปตามภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตลาดหุ้นไทยอาจจะต้องพิจารณาให้รอบคอบกับความเหมาะสมของราคาหุ้นในปัจจุบันที่ปรับเพิ่มขึ้นไปให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันนักวิเคราะห์จากหลายสถาบันกำลังพิจารณาปรับประมาณการ จากความไม่แน่นอนของปัจจัยโควิด-19 ระลอกใหม่ แนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และแรงกดดันจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญว่าราคาหุ้นว่าเหมาะสมกับทิศทางของกำไรของบริษัทในช่วงนั้นๆหรือไม่

"ถ้าเรามองว่าหุ้นจีนเพิ่มขึ้นไปสูงมาก แต่หากมามองที่กำไรของบริษัทในตลาดหุ้นจีน กำไรเขาก็เติบโตขึ้นไปมากเช่นกัน ทำให้นักลงทุนหลายๆ รายมองว่าหุ้นจีนเป็นหุ้นที่ราคาเหมาะสมและยังเข้าลงทุนได้ เพราะราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นไปตามปัจจัยพื้นฐาน และหุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐฯราคาก็พุ่งขึ้นสูง แต่ผลงานที่ออกมาหลายๆ บริษัทก็เริ่มมีกำไรแล้ว

หากมองที่ตลาดหุ้นไทยก็ต้องนำปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะความสามารถในการทำกำไรมาพิจารณาประกอบ เพราะตอนนี้ราคาหุ้นไทยก็ถือว่าแพง และราคาเริ่มตึงๆ แล้ว แต่ตลาดหุ้นไทยยังเป็นตลาดที่ Laggard นักวิเคราะห์ก็อยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการ ทำให้การมองว่าเหมาะสมที่จะเข้าลงทุนไหม ก็อยากให้มองว่าความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

ส่วนตลาดหุ้นไทยจะเป็นฟองสบู่ไหมตอนนี้คงอาจจะยังไม่ใช่ เพราะเราถือว่าปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าประเทศอื่นๆ หากจะเป็นฟองสบู่ก็จะเป็นลักษณะที่เป็นกลุ่มๆมากกว่า ในกลุ่มที่ราคาหุ้นเกินปัจจัยพื้นฐานไปมาก"นายจิรวัฒน์ กล่าว

นายตรีพล ภูมิวสนะ Managing Director - Private Banking Business Head กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนในปี 64 ยังคงแนะนำให้กระจายความเสี่ยงมาต่อเนื่อง เพราะจะช่วยลดความผันผวนให้กับพอร์ตของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี ทำให้ยังสามารถทำผลตอบแทนได้จากมีการลงทุนที่กระจายตัว แต่ปีนี้จะเน้นเพิ่มสัดส่วนการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเป็น 30% เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะสหรัฐฯที่เตรียมอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาเติมในระบบเพิ่มขึ้น และมองว่าเม็ดเงินที่เข้ามาจะเข้าไปอยู่ในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อเก็งกำไร

ขณะที่ธีมการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดหุ้นปีนี้จะเน้นไปที่ 2 ทางเลือก ได้แก่ หุ้นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ New Economy ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเทคโนโลยี แต่แนะนำเป็นการลงทุนที่ไม่เฉพาะเจาะจงรูปแบบของเทคโนโลยีมากเกินไป เพื่อไม่ให้กระจุกตัว และอีกทางเลือกเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงบทบาทของโลก เช่น การหันมาใช้พลังงานทดแทน ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และธุรกิจที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งสอดคล้องไปกับนโยบายของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากนโยบายของสหรัฐฯที่เปลี่ยนแปลงไปจากประธานาธิบดีคนก่อนหน้า

ส่วนพันธบัตรรัฐบาลยังสามารถลงทุนได้ แต่เน้นไปที่ประเทศที่ให้ผลตอบแทนดี ได้แก่ สหรัฐฯและจีน ด้านการลงทุนในทองคำยังสามารถทยอยสะสมเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวน ซึ่งทองคำยังถือเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยนักลงทุนป้องกันความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี และช่วยพยุงผลตอบแทนจากการลงทุนได้ในภาวะที่ปัจจัยต่างๆในโลกที่เกิดขึ้นยังคงมีความไม่แน่นอน

ในปี 64 ยังมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้จากปีก่อนที่ปรับตัวลดลงไปมาก แต่คงยังไม่ได้เติบโตได้เร็ว เพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และการกระจายวัคซีนยังไม่ทั่วถึง ทำให้ความเสี่ยงจากโควิด-19 จะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ ซึ่งการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆก็ยังคงต้องพิจาณาความเหมาะสมอย่างรอบคอบ นำปัจจัยพื้นฐานเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณา พร้อมกับการกระจายการลงทุนให้หลากหลายเพื่อป้องกันความเสี่ยง และยังมีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนได้ โดยในปี 63 ที่ผ่านมาธนาคารสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับลูกค้า Private Banking ได้มากกว่า 11% ในค่าความผันผวนราว 7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ