บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long Term Rating) หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) (ซึ่งมีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ?A+(tha)? แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ที่ระดับ ?A+(tha)?
สำหรับเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดที่ 1/2564 ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2568 จะถูกนำไปใช้สำหรับชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด
หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิของ SCC เนื่องจากจำนวนหนี้สินที่มีหลักประกันและหนี้ที่มีลำดับสิทธิสูงกว่าของบริษัทในกลุ่ม SCC มีอยู่ในระดับที่จำกัด
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความสามารถในการรองรับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุน และ กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งขึ้นจากธุรกิจเคมิคอลส์และเงินเพิ่มทุนจาก IPO ของ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) จำนวน 4 หมื่นล้านบาท ช่วยให้อัตราส่วนหนี้สินของ SCC ลดลงซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัทฯ
โดยฟิทช์คาดว่า SCC น่าจะสามารถใช้จ่ายตามแผนการลงทุนจำนวนประมาณ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแผนการลงทุนที่มีภาระผูกพัน (Committed Capex) เป็นหลัก ในปี 2564-2565 โดยที่จะยังสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สิน ให้อยู่ที่ระดับประมาณ 3.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่ยังสอดคล้องกับอันดับเครดิต ?A+(tha)? ของบริษัทฯ โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนสำหรับโครงการปิโตรเคมีที่เวียดนาม (Long Son Petrochemicals: LSP) ซึ่งจะเริ่มสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปี 2566
ฟิทช์เห็นว่าอัตราส่วนหนี้สินของ SCC มีความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลางที่อาจจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 3.5 เท่า ในช่วงสองปีข้างหน้า เนื่องจากโอกาสในการใช้จ่ายลงทุนเพื่อเข้าซื้อกิจการต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะเพื่อการขยายธุรกิจแพคเกจจิ้ง ด้วยเงินที่ได้รับจากการ IPO อย่างไรก็ตาม การลงทุนดังกล่าวส่วนใหญ่น่าจะเป็นการลงทุนในธุรกิจที่มีการดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถสร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นได้ทันทีให้แก่ SCC ทำให้ความเสี่ยงดังกล่าวน่าจะได้รับการบรรเทาลงในระดับหนึ่ง
การเติบโตที่แข็งแกร่งของกำไรจากการดำเนินงาน ? ฟิทช์คาดว่า SCC จะสามารถสร้างกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ได้อย่างแข็งแกร่งในระดับประมาณ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2563-2565 EBITDA ของบริษัทฯ เติบโตเกือบร้อยละ 10 ในงวดเก้าเดือนแรกของปี 2563 ถึงแม้ว่ารายได้จะลดลงประมาณร้อยละ 9 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ (spreads) ในธุรกิจเคมิคอลส์ ซึ่งเป็นผลมาจากอุปทานสินค้าในภูมิภาคเอเชียที่ลดลงในขณะที่อุปสงค์ยังคงแข็งแกร่งโดยเฉพาะอุปสงค์จากประเทศจีน รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (high-value-added หรือ HVA) และการลดต้นทุนของบริษัทฯ
Spreads ในธุรกิจเคมิคอลส์แนวโน้มลดลง ? ฟิทช์ได้ประมาณการว่า spreads ในธุรกิจเคมิคอลส์จะลดลงในปี 2564 จากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น แต่ก็น่าจะชดเชยได้กับการเติบโตของ EBITDA ของธุรกิจแพคเกจจิ้งซึ่งมีการขยายกำลังการผลิตและมีกำไรส่วนเพิ่มจากกิจการที่เข้าซื้อมาใหม่
การกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น ? การกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ SCC มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อโครงการ LSP ในเวียดนามเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2566 โครงการดังกล่าวเป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะรองรับการเติบโตของความต้องการโพลิเมอร์ภายในประเทศที่แข็งแรง ซึ่งในปัจจุบันยังคงพึ่งพาจากการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
การกระจายความเสี่ยงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง เช่น ความผันผวนของ spreads ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และการพึ่งพิงอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศของธุรกิจปูนซีเมนต์ การกระจายความเสี่ยงได้ช่วยให้กระแสเงินสดของ SCC มีความสม่ำเสมอในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เนื่องจาก SCC สามารถที่จะปรับเพิ่มสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและสินค้าบรรจุภัณฑ์ไปในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการซื้อต่อเนื่อง เช่น กลุ่มสินค้าทางการแพทย์และสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบจากความต้องการซื้อที่ลดลงในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ การกระจายความเสี่ยงยังลดผลกระทบจากการหยุดชะงักของการผลิตในหลายประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ SCC ยังได้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงด้านวัตถุดิบที่จะเพิ่มขึ้นจากโครงการ LSP ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบได้ทั้งก๊าซและแนฟทา
สถานะความเป็นผู้นำตลาด SCC มีสถานะเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักของบริษัทฯ โดย SCC มีกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในหลายประเทศในอาเซียน สำหรับกลุ่มสินค้าปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี) และกระดาษบรรจุภัณฑ์ ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนรายได้จากฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนและการส่งออกไปยังภูมิภาคดังกล่าว จะเพิ่มขึ้นในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อโครงการ LSP เริ่มเปิดดำเนินการ นอกจากนี้ SCC ยังมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ทั่วโลกนอกเหนือจากประเทศในกลุ่มอาเซียนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 17 ของรายได้รวมในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2563
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
SCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC, ?A(tha)?/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งอยู่ในธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเช่นเดียวกัน โดย SCC มีส่วนแบ่งทางการตลาดของปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงกว่า รวมถึงมีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากหลากหลายธุรกิจกว่า อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งทางสถานะทางธุรกิจที่สูงกว่า ได้ถูกลดทอนจากอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ที่สูงกว่า SCCC ทำให้ SCC มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCCC เพียงหนึ่งอันดับ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของ SCCC สะท้อนความเสี่ยงจากอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง อันเป็นผลจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนแอลงและแผนการลงทุนขนาดใหญ่
เมื่อเปรียบเทียบกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC, อันดับเครดิต ?AA+(tha)? แนวโน้มเครดิตเป็นลบ, อันดับเครดิตโดยลำพัง ?aa-(tha)?) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCC มีขนาดของธุรกิจเคมิคอลส์ที่เล็กกว่า PTTGC แต่ SCC มีการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจอื่นที่หลากหลายกว่า ซึ่งทำให้ SCC มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของธุรกิจเคมิคอลส์น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม PTTGC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า จึงมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCC หนึ่งอันดับ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้รวมลดลงในอัตราร้อยละ 10 ในปี 2563 เป็นผลมาจากการลดลงของความต้องการซื้อปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี รายได้ฟื้นตัวในอัตราร้อยละ 5-10 ต่อปี ในปี 2564-2565 โดยได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อสินค้าในหลายๆ กลุ่มผลิตภัณฑ์ การฟื้นตัวของราคาสินค้า และการขยายกำลังการผลิตของธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง
- EBITDA Margin เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 15-16 ในปี 2563 (เก้าเดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 15.5 และปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 12.5) EBITDA Margin ลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 13-14 ในปี 2564-2565 เนื่องจาก spreads ในธุรกิจเคมิคอลส์ที่ลดลง
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน (Committed Capex เป็นหลัก) ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2563-2565
- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับร้อยละ 40-50 ในปี 2563-2565
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก: ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต เว้นแต่จะมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบของโครงการ LSP ในประเทศเวียดนาม
ปัจจัยลบ: FFO net leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่ดี: SCC มีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 จำนวน 1.0 แสนล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท เงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 5.0 หมื่นล้านบาท สภาพคล่องของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามการปรับปรุงตัวเลขโดยฟิทช์) จำนวนประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานประมาณ 5.0 หมื่นล้านบาทต่อปี และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
สภาพคล่องของ SCC ในช่วงสองปีข้างหน้ายังต้องพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากภายนอก เนื่องจากแผนค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูง อย่างไรก็ตาม SCC ได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้จากสถาบันการเงินสำหรับโครงการลงทุนหลักแล้ว โดย SCC มีวงเงินสินเชื่อระยะยาวจากสถาบันการเงิน ที่คงเหลือใช้ได้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 จำนวน 1.1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นวงเงินกู้สำหรับโครงการ LSP จำนวน 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 9.3 หมื่นล้านบาท)