โบรกเกอร์ ต่างเชียร์ "ซื้อ" หุ้นบมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) เล็งกำไรปี 64 เติบโตแข็งแกร่งในช่วง 36,660-41,414 ล้านบาท จากความต้องการใช้ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับ ไตรมาส 1/64 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 3.5 แสนตัน หรือคิดเป็น 10% และในอีก 2-3 ปีจะเพิ่มขึ้น 70% จากโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม
ส่วนธุรกิจแพ็คเกจจิ้งปีนี้กำไรจะเติบโตจากการขยายกำลังการผลิตและการเข้าซื้อกิจการต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เน้นเซอร์วิสและโซลูชั่น รวมถึงตลาดซ่อมแซม
ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/64 กำไรหลักของ SCC มีแนวโน้มขยายตัวจากไตรมาส 4/63 (QoQ) หนุนโดยผลประกอบการที่ดีขึ้นของอุปสงค์ที่แข็งแกร่งขึ้นตามปัจจัยทางฤดูกาล และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ รับผลจากกิจการที่เพิ่งดำเนินการซื้อเสร็จสิ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้ เล็งรับแรงหนุนจากเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยตั้งแต่เดือน ต.ค.63 ถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้น SCC รวมกว่า 4.9 ล้านหุ้น
ล่าสุด เมื่อเวลา 15.05 น.ราคาหุ้น SCC อยู่ที่ 374 บาท ลดลง 4.00 บาท (-1.06%) ขณะที่ดัชนี SET บวก 12.45 จุด
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ซื้อ 430 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 420 หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อ 440 เคจีไอ (ประเทศไทย) ซื้อ 440 ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ซื้อ 438 ทรีนิตี้ ซื้อ 430 บัวหลวง ซื้อ 460 เอเซียพลัส ซื้อ 450
นายสุรชัย ประมวลกิจเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทไทย) กล่าวว่าธุรกิจ SCC ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเข้าสู่การเติบโต โดยธุรกิจปิโตรเคมีจะเติบโตโดดเด่นสุด เนื่องจากจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/64 จำนวน 3.5 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 10% ทำให้มีกำลังการผลิตในปีนี้เพิ่มเป็น 3.4 ล้านตัน/ปี
และในอีก 2 ปีข้างหน้าโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม กำลังการผลิต 1.6 ล้านตัน/ปี ซึ่งเป็นระดับ World Class จะเพิ่มกำลังการผลิต 70% ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งแรกปี 66
นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมียังมีแนวโน้มสดใส เนื่องจากกำลังการผลิตใหม่ของโลกลดน้อยลง และกว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มเติมคงต้องใช้เวลาอีก 5-6 ปี ประกอบกับ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวในปีนี้ส่งผลให้ธุรกิจปิโตรเคมีมีทิศทางที่ดีขึ้น
ส่วนธุรกิจแพ็คเกจจิ้งในปีนี้คาดว่ากำไรจะเติบโตอย่างต่ำ 20% จากการขยายกำลังการผลิต และซื้อกิจการต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เน้นเซอร์วิสและโซลูชั่น รวมถึงตลาดซ่อมแซม
แม้ว่ายอดขายรวมของบริษัทจะไม่เติบโตมากนัก แต่กำไรน่าจะปรับตัวดีขึ้นหากผลของการลดต้นทุน โดยคาดว่าในปี 64 จะมีกำไรเติบโต 8.6% มาที่ 37,000 ล้านบาท
ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แผนการเติบโตที่ชัดเจนของทุกธุรกิจในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะกำลังการผลิตของธุรกิจปิโตรเคมีที่จะเพิ่มขึ้นถึง 70% หลังโครงการ LSP ในเวียดนามเสร็จสิ้น รวมถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจแพ็คเกจจิ้งภายใต้ SCGP จะช่วยยกฐาน EBITDA ของ SCC ให้สูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยในช่วงปี 53-63 ที่ทำได้ 71,030 ล้านบาท มาสู่ระดับ 1 แสนล้านบาทในปี 66 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ คาดการณ์กำไรปี 64 เติบโต 7.4% มาที่ 36,660 ล้านบาท และประเมิน Fair Value ด้วยวิธี DCF จะให้ราคาเหมาะสมปี 64 ที่ 450 บาท เทียบเท่า PER 14.73 เท่า มี Upside 14.8% บวกกับ Dividend Yield อีก 3.57%
ขณะที่ปัจจัยเสริมที่คาดหวังจะช่วยหนุนราคาหุ้น คือแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติที่กลับมา หลัง SCC เผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติติดต่อกันตั้งแต่ปี 60-63 รวมกว่า 126.8 ล้านหุ้น ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติลดลงจาก 25% เหลือเพียง 13.96% ณ สิ้นปี 63 แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่าในช่วงตั้งแต่เดือน ต.ค.63 ถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้น SCC รวมกว่า 4.9 ล้านหุ้น
ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าทิศทาง Fund Flow ต่างชาติที่มีโอกาสไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง จากหลายนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ทั้งเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ทำให้เม็ดเงินลงทุนมีโอกาสไหลเข้ากลุ่มประเทศเอเซียรวมถึงไทย ซึ่งมีเสถียรภาพทางการเงินที่มั่นคงแช็งแรง
ส่วน บล.บัวหลวง ระบุว่า แนวโน้มกำไรหลักในไตรมาส 1/64 ของ SCC มีแนวโน้มขยายตัวจากไตรมาส 4/63 (QoQ) หนุนโดยผลประกอบการที่ดีขึ้นของ CBM (อุปสงค์ที่แข็งแกร่งขึ้นตามปัจจัยทางฤดูกาล), ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (อุปสงค์ที่แข็งแกร่งและการรับรู้รายได้จากกิจการที่เพิ่งดำเนินการซื้อเสร็จสิ้นเมื่อเร็วๆ นี้ (SOVI: ผู้นำทางด้านผู้ให้บริการบรรจุภัณฑ์ไฟเบอร์ในประเทศเวียดนามและ Go-Pak : ผู้นำทางด้านผู้ให้บริการบรรจุภัณฑ์อาหารในประเทศอังกฤษ) และธุรกิจเคมิคอลส์(ปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานและส่วนต่างราคาที่ขยายตัว)
ขณะที่ กำไรหลักไตรมาส 1/64 มีแนวโน้มทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เนื่องจากกำไรของธุรกิจเคมิคอลส์ที่ปรับตัวสูงขึ้นน่าจะชดเชยกับผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงของธุรกิจ CBM และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ได้ โดยยังคงการประมาณการกำไรสุทธิปี 64 ที่ 41,414 ล้านบาท