นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า เป้าหมายการดำเนินงานของธนาคารในปี 64 ยังคงต้องมีการพิจารณาแผนการดำเนินงานอย่างระมัดระวัง หลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ และยังคงส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ รายได้ของภาคธุรกิจ กำลังซื้อของภาคครัวเรือน ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้
ธนาคารวางเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อในปี 64 ที่ 5% น้อยกว่าปี 63 ที่สินเชื่อเติบโตถึง 12% ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ ส่วนหนึ่งมาจากมีกลุ่มลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ในรอบแรก จึงทำให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างไม่ได้ลดลง ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังมีความต้องการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจากที่อั้นอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ โดยหากไม่นัยรวมกับสินเชื่อของลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้จะพบว่าสินเชื่อในปี 63 เติบโตได้ราว 8-9%
ส่วนในปีนี้ ธนาคารจะยังคงระมัดระวังการปล่อยเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยเน้นกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ และยังมีทิศทางการเติบโตที่ดี แม้ว่าจะมีการแข่งขันในตลาดสูง แต่ธนาคารจะไม่เน้นไปแข่งขันในด้านปริมาณ โดยจะเน้นด้านคุณภาพของลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ยอมรับราคาที่ธนาคารนำเสนอให้แม้ว่าอาจจะสูงกว่าคู่แข่งรายอื่นในตลาดบ้างก็ตาม
กลยุทธ์ดังกล่าวจะทำให้ธนาคารสามารถบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อได้ดียิ่งขึ้น และทำให้พอร์ตสินเชื่อของธนาคารเป็นพอร์ตที่มีคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลุกค้าที่มีความสามารถในการชำระหนี้สูง ทำให้ธนาคารสามารถผ่อนคลายความเสี่ยงของคุณภาพหนี้ในพอร์ตสินเชื่อลงได้ภายใต้ภาวะความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในปีนี้มองว่าจะเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 4% จากสิ้นปี 63 อยู่ที่ราว 2.9% ซึ่งธนาคารจะควบคุมระดับ NPL ในปี 64 ให้ไม่เกิน 4.5% โดยการเพิ่มขึ้นของ NPL ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีกลุ่มลูกค้า 5% ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้รอบแรกเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาไปแล้วไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ทำให้กลุ่มลูกค้าดังกล่าวจะเข้ามาเป็น NPL ในช่วงต้นปีนี้ และยังคงต้องติดตามว่าลูกค้าที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้รอบ 2 จะกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติมากน้อยเพียงใดหลังจากสิ้นสุดมาตรการ โดยปัจจุบันมีลูกค้าของธนาคารสมัครเข้ามาแล้วราว 10,000 ราย
นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามกลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจในบางอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งระลอกแรกและระลอกที่สองว่าจะสามารถไปต่อได้หรือไม่ ซึ่งยังถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ธนาคารนำมาประเมินแนวโน้มของ NPL ที่ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้ โดยที่ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจบางรายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ธนาคารยังคงมีการขยายระยะเวลาพักชำระหนี้อยู่
ส่วนแนวโน้มของการตั้งสำรองฯในปี 64 คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนที่ธนาคารตั้งสำรองฯไปสูงมาก ทำให้อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Coverage Ratio) เพิ่มขึ้นมาเป็น 170% จากสิ้นปี 62 ที่ 111% หลังจากตั้งสำรองฯในช่วงไตรมาส 4/64 ก้อนใหญ่กว่า 2 พันล้านบาท ทำให้ Coverage Ratio ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แต่การตั้งสำรองฯที่เพิ่มขึ้นมากก็จะช่วยให้ธนาคารรองรับความเสี่ยงจาก NPL เพิ่มขึ้นได้ดีด้วย
ขณะที่ธุรกิจตลาดทุนและบริหารจัดการสินทรัพย์ของธนาคารในปี 64 คาดว่าจะยังสร้างรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยได้ดี โดยเฉพาะการที่ปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯปรับตัวเพิ่มขึ้นมาในระดับสูง และในปีนี้น่าจะเห็นการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เลื่อนแผนมาจากปีก่อน ซึ่งหุ้นตัวแรกของปีที่ธนาคารได้มีส่วนร่วมในนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ คือ บมจ.ปตท.น้ำมันและค้าปลีก (OR) ที่ได้เปิดจอง IPO ไปแล้ว
ในปี 63 สัดส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาเป็น 32% จากเดิมอยู่ที่ 30% และธนาคารจะพยามยามเพิ่มสัดส่วนให้ถึง 40% เพื่อทำให้รายได้ของธนาคารมีการกระจายตัวที่ชัดเจนมากขึ้น