นายทวิช เตชะนาวากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) เปิดเผยว่า บริษัทคาดหวังว่าศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งให้บริษัทเข้าสู่กระบวการฟื้นฟูกิจการในวันนัดฟังคำพิพากษา 15 ก.พ.นี้ เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ โดยหวังว่าหุ้น IFEC จะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ตามเดิมภายในปี 66
อนึ่ง นางสาวสมศรี จีระวิพูลวรรณ ในฐานะเจ้าหนี้ยื่นคำร้องให้ IFEC เข้าฟื้นฟูกิจการ โดยมีผู้คัดค้านรวมท้งัหมด 14 ราย
นายทวิช กล่าวว่า เจ้าหนี้ IFEC ในปัจจุบันมีอยู่กว่า 1,311 ราย ยอดหนี้เงินต้น 7,618 ล้านบาท หลังจากบริษัทได้จัดประชุมเจ้าหนี้รวม 2 ครั้ง เพื่อเสนอแผนฟื้นฟูกิจการฉบับร่างให้พิจารณา ปรากฎว่าได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้รวม 390 ราย มูลหนี้ราว 2,175 ล้านบาท ซึ่งหากในวันที่ 15 ก.พ.นี้บริษัทได้เข้าแผนฟื้นฟูกิจการก็คาดว่าจะเริ่มชำระหนี้งวดแรกได้ในวันที่ 1 ก.ค.65 แต่หากไม่สามารถเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ก็อาจจะสูญเสียดอกเบี้ยและเงินต้นบางส่วน
สำหรับการฟื้นฟูกิจการ IFEC จะเร่งดำเนินตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 3 ข้อ คือ 1.ปรับปรุงฐานะทางการเงินให้ส่วนทุนกลับมาเป็นบวก 2.บริษัทต้องมีผลประกอบการตามปกติ และมีกำไรต่อเนื่อง 3 ไตรมาส 3.สรุปงบประมาณรายไตรมาสและรายปีแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ให้ครบถ้วน ซึ่งบริษัทคาดหวังจะกลับเข้ามาซื้อขายตามปกติได้ในปี 66
"ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับวันที่ 15 ก.พ. นี้แล้วว่าจะได้รับการพิจารณาให้เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่ ซึ่งหากได้เข้าแผนฟื้นฟูกิจการตามแผนเราก็จะสามารถเพิ่มทุนเข้ามาก่อนที่จะนำเงินที่ได้ไปขยายการลงทุนหารายได้เพิ่ม ซึ่งตอนนี้เราก็มีแผนที่ชัดเจนมากขึ้นแล้วมีการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อที่จะร่วมลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆเพิ่มเติม ก็จะช่วยให้บริษัทพลิกฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง"นายทวิช กล่าว
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำรายงานงบการเงินของปี 60-62 เพื่อที่จะสามารถจัดส่งได้ก่อนจะครบกำหนดในวันที่ 31 มี.ค. นี้ และบริษัทจะมีเร่งจัดทำรายงานงบการเงินงวดปี 63 เพื่อที่จะจัดส่งต่อไป
นายทวิช กล่าวว่า แผนงานเบื้องต้น บริษัทจะทำการเพิ่มทุนมูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ทั้งในรูปแบบการออกหุ้นเพิ่มทุนเสนอขายให้กับผู้ถือห้นเดิม (RO) หรือ การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนเป็นการเฉพาะเจาะจง (PP) เพื่อจะนำเงินที่ได้มารองรับการขยายการลงทุนด้านพลังงานและสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ธุรกิจจำหน่ายน้ำอุตสาหกรรมและไอน้ำ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเก็บกักพลังงาน
ขณะเดียวกันบริษัทคาดว่าจากการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน จะมีรายได้เข้ามาราว 500 ล้านบาทในปี 64 โดยหลังจากที่หักรายจ่ายต่างๆ แล้วจะเหลือเงินทุนราว 100 ล้านบาทที่สามารถนำไปขยายการลงทุนเพื่อให้ผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทวางเป้าหมายที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นแตะ 800 ล้านบาทในปี 66 จากการรับรู้รายได้จากธุรกิจเดิม คือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และธุรกิจกำจัดขยะ
สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้น บริษัทเตรียมจะเปลี่ยนแผงเป็นเทคโนโลยีใหม่ (Repowering) ที่จะช่วยให้อายุของแผงนานขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า โดยปรับจากการลงทุนเองที่คาดว่าจะต้องใช้เงินสูงถึง 500 ล้านบาท มาเป็นการเช่าคืนแผงโซลาร์เซลล์ที่อัตรา 2-2.50 บาท/หน่วย และขายไฟฟ้าในอัตรา 3.5 บาท/หน่วย
ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะนั้น วันนี้บริษัทได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) กับ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะในจังหวัดชลบุรี ที่ปัจจุบันบริษัทได้เข้ารับงานจัดการบ่อขยะขนาด 108 ไร่ คาดว่าจะเห็นการลงทุนภายใน 3 ปีจากนี้ โดยบ่อขยะดังกล่าวปริมาณขยะที่จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลายแสนตัน และยังมีขยะที่จะเข้ามาต่อเนื่องกว่า 100,000 ตัน/ปี ในขณะเดียวกันบริษัทจะขอใบอนุญาตกำจัดขยะอุตสาหกรรมเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาและเจรจาเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังการผลิต 8.8 เมกะวัตต์ โดยจะใช้วิธีการแบ่งจ่าย เพื่อนำเงินที่เหลือไปลงทุนโครงการอื่นๆ
และวันนี้บริษัทได้ลงนามใน MOU กับ บริษัท เอ็นเนอร์ เรย์ ยูเอซี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อออกแบบและติดตั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ในรูปแบบของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชน (Private PPA) บนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งเป็นกิจการส่วนตัวของนายทวิช มีกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ คาดว่าปีนี้จะสามารถติดตั้งและรับรู้รายได้ในเฟสแรกก่อน 1 เมกะวัตต์ ใช้งบลงทุนราว 23-25 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์ พร้อมกันนี้ บริษัทยังคงเน้นการเข้าลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ) ในรูปแบบของ Private PPA โดยปัจจุบันได้เข้าเจรจากับโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง คาดหวังจะได้รับสัญญาการพัฒนาโซลาร์รูฟเข้ามาไม่ต่ำกว่า 10-15 เมกะวัตต์ จากที่ตลาดรวมมีความต้องการออกมาอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 150-250 เมกะวัตต์ นายทวิช กล่าวถึงกรณีที่กรมบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดโรงแรมดาราเทวี ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์สำคัญของ IFEC นั้น เชื่อว่าศาลจะสั่งให้ระงับการขายทอดตลาดในวันที่ 18 ก.พ.นี้ตามการร้องขอของเจ้าหนี้ IFEC เนื่องจากมองว่าราคากลางที่กำหนดไว้ที่ 2,116 ล้านบาทต่ำกว่าที่ควร เนื่องจากราคาประเมินอยู่ที่ 3,700-3,800 ล้านบาท และหากอยู่ในช่วงระยะเวลาปกติที่ไม่มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะขายได้ราคาที่สูงขึ้นกว่าที่จะขายในช่วงนี้