นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดว่า อัตราดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์จะปรับลดลงอีก 0.25% ในช่วงจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งราว 0.25% ซึ่งเป็นในทิศทางเดียวกับที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่จะมีการประชุมวันที่ 18 ก.ย.นี้คงจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงราว 0.50%
แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงน่าจะทำให้สินเชื่อเติบโตได้ดีขึ้นด้วย โดย KBANK มั่นใจว่าในปีนี้สินเชื่อของธนาคารจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย 8-13% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 5-7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้สินเชื่อรวมเติบโตไปแล้ว 8% โดยสินเชื่อธุรกิจ SME เติบโต 7% และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเติบโตเพิ่มเป็น 20% ขณะที่สินเชื่อเคหะเติบโตได้ดี ด้วยการใช้กลยุทธเข้าถึงโครงการ
นายประสาร กล่าวว่า สินเชื่อ SME เติบโตสวนทางตลาด โดยธนาคารให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าในกลุ่ม SME ในด้านการปรับปรุงธุรกิจ และสนองความต้องการลูกค้า พร้อมทั้งเร่งรัดเวลาในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
ด้านปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) แม้ว่า NPL ของธนาคารจะมีแนวโน้มใกล้เคียงกับทั้บระบบที่เร่งตัวขึ้น แต่ก็จะพยายามรักษาระดับ Gross NPL ไว้ที่ 5% กว่า ๆ และ Net NPL ที่ 3% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่ง NPL ที่เร่งตัวขึ้นกระจายไปทุกกลุ่ม แต่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และในกลุ่มของผู้ส่งออกก็ไม่ได้เป็น NPL มากนัก
นายประสาร กล่าวว่า ธนาคารยังเชื่อว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ยังน่าจะขยายตัวได้ 12.5% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมาย เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักยังเติบโตได้ดี ทั้ง อิเล็คทรอนิกส์ ยาง เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และรถยนต์ ส่วนสินค้าส่งออกที่มีปัญหาส่วนใหญ่เป็นสิค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ทั้ง เกษตร สิ่งทอ รองเท้า ของเล่นเด็ก
ส่วนปัญหาซับไพร์ม ยังต้องจับตากันต่อไปว่าผลกระทบจะมีมากน้อยเพียงใด แม้ว่าที่ผ่านมาเอเชียจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรงมากนัก แต่แนวโน้มผลกระทบทางอ้อมยังเป็นเรื่องที่ต้องกังวล โดยเฉพาะผลที่มีต่อกำลังซื้อของสหรัฐและยุโรป ซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบไปด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--