นายศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี (AIT) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้ 6,500 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการรับรู้มูลค่างานในมือ (Backlog) ซึ่ง ณ วันที่ 14 มกราคม 2564 อยู่ที่ 6,300 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีงานที่อยู่ระหว่างรอคำสั่งซื้อจากลูกค้าอีกประมาณ 200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ เตรียมความพร้อมเข้าร่วมประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยจะเข้าร่วมประมูลงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ มองว่าภาครัฐยังคงเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมตามงบประมาณปี 2564 เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนภาคเอกชน ต้องรอประเมินสภาวะเศรษฐกิจและความสามารถในการบริหารงาน
"เป้าหมายการเติบโตในปีนี้มาจาก Backlog ที่มีในมือแล้วส่วนหนึ่ง และการเข้าร่วมประมูลงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมองว่ายังไงภาครัฐต้องดำเนินการตามงบประมาณประจำปี 2564 อยู่แล้วเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากนี้เป็นโครงการที่ยังต้องเร่งดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาคเอกชนอาจจะต้องรอประเมินสภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากบางบริษัทอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนการลงทุนออกไป" นายศิริพงษ์ กล่าว
นายศิริพงษ์ กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ในปี 2564 มีการปรับเปลี่ยนอย่างมากตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยพฤติกรรมในสังคมโลกที่เปลี่ยนไปทำให้ต้องเปลี่ยนวิถีการทำงาน การใช้ชีวิต การเว้นระยะห่างทางสังคม ผู้คนเริ่มใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงานมากขึ้น ส่งผลทำให้แนวโน้มธุรกิจ ICT ในประเทศไทยในปี 2564 - 2565 ยังคงเติบโตได้ 4.5 ? 6.5% จากการเข้าสู่เทคโนโลยี 5G ที่จะทำให้ความเร็วของอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้น โดยอัตราการตอบสนองต่อการสั่งการรวดเร็ว ซึ่งจะเร็วกว่าเทคโนโลยี 4G ประมาณ 30 เท่า ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนเกิดการลงทุนและมีความต้องการด้าน ICT เพิ่มขึ้นจากการทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่ดิจิทัล
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันมากขึ้น ด้วยการเร่งพัฒนาเทคโนโลยี 5G และรุกตลาด Fixed Broadband ให้ครอบคลุมการให้บริการมากขึ้น และขยายการบริการไปสู่ภาคธุรกิจที่มีความต้องการใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อตอบสนองความต้องการในการดำเนินธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการออกแบบระบบคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารคอมพิวเตอร์ (SI) ที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของภาคการสื่อสารและโทรคมนาคม ทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ อาทิ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และบริษัทเอกชนต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีฐานระบบและข้อมูลเพื่อบริหารจัดการการทำงานภายในองค์กรให้สอดรับกับยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการทำงาน หรือ การทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง ทำให้ความต้องการใช้ฐานข้อมูลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย