นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า จากกรณีรัฐประหารในประเทศเมียนมาเชื่อว่ามีผลกระทบค่อนข้างน้อยหรือแทบจะไม่มีผลกระทบเลยกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าในประเทศเมียนมายังมีความจำเป็นอย่างมาก และขณะนี้ความต้องการไฟฟ้ายังสูงกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนั้น สัญญาซื้อขายไฟ (PPA) ของโรงไฟฟ้ามินบูนั้นได้รับมาตั้งแต่ก่อนนางอองซานซูจีจะเข้ามาเป็นประธานที่ปรึกษาของรัฐบาล จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกระทบกับสัญญาหรือการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามินบูในเฟสถัดไป รวมทั้งการรับรู้รายได้ก็ยังเป็นไปตามปกติ
"ประเทศไทยก็เกิดรัฐประหารหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยที่จะต้องหยุดการผลิตโรงไฟฟ้าเลย เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เชื่อว่าจะเป็นลักษณะคล้ายกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศเมียนมารอบนี้
ในทางกลับกันหากเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรง เช่น อุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว อาจเห็นสัญญาณชะลอการเข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมา ส่วนหนึ่งบางประเทศอาจจะมีเงื่อนไขการลดสัดส่วนการนำเข้าสินค้า หรือการเดินทางของนักท่องเที่ยวของประเทศที่มีการทำรัฐประหาร"นายฤทธี กล่าว
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้ามินบูหลังจากก่อสร้างเฟสแรกแล้วเสร็จพร้อมรับรู้รายได้ไปแล้วจากกำลังการผลิต 50 MW ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างเฟสที่สอง กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 50 MW เบื้องต้นคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 64 แม้ว่าจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในเมียนมาก็ตาม และจะทำให้บริษัทรับรู้รายได้จากกำลังการผลิต 100 MW เต็มปีในปี 65
ขณเดียวกันจะเดินหน้าก่อสร้างเฟส 3 และเฟส 4 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 65 เพื่อให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 120 MW ส่งผลให้โครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิตครบตามแผน 220 MW พร้อมกับรับรู้รายได้เต็มที่จากกำลังการผลิตทั้งหมดในปี 66 เป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตผลประกอบการ SCN รอบใหม่อย่างมีนัยสำคัญ
พร้อมกันนี้ยังยืนยันในการนำ บริษัท กรีนเอิร์ธพาวเวอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้ามินบูเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามแผนในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ ณ เมืองมินบูในเมียนมา เป็นโครงการที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารงานของ GEP โดยมีผู้ลงทุนหลัก คือ SCN, ECF และ META
นายฤทธี ยังกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากโครงการโรงไฟฟ้ามินบูที่เป็นโครงการหลักสร้างรายได้อนาคตแล้ว บริษัทยังคงมุ่งขยายธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่มเติมด้วยการจัดตั้งบริษัทย่อยร่วมกับพันธมิตรภายใต้ชื่อ บริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด (SAP) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop)
ปัจจุบัน SAP ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนแล้ว 17 MW พร้อมตั้งเป้าที่จะเซ็นสัญญาเพิ่มอีก 30 MW ทำให้สิ้นปี 64 บริษัทคาดว่าจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 47 MW สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะมี 20 MW เป็นสัญญาณที่ดีต่อการขยายตัวของธุรกิจดังกล่าวในระยะถัดไป
https://youtu.be/gKfbiF-8AN8