ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ที่ระดับ "A-" พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3.5 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "A-" อีกด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปจ่ายชำระหนี้และใช้เป็นเงินลงทุนตามแผนงานของบริษัท
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันจากการเป็นผู้ประกอบการยางธรรมชาติตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผลิตภัณฑ์ขั้นต้นของปลายน้ำ (Vertical Integration) และประวัติผลงานที่เข้มแข็งของคณะผู้บริหารของบริษัท ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ถูกลดทอนลงบางส่วนจากลักษณะความเป็นวงจรและผันผวนของราคายางธรรมชาติ รวมทั้งความท้าทายต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 รายได้จากการดำเนินงานรวมและกำไรสุทธิของบริษัทยังคงเป็นไปตามประมาณการของทริสเรทติ้งสำหรับปี 2563 เต็มปี โดยบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานเติบโตที่ระดับ 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหรืออยู่ที่ 4.95 หมื่นล้านบาท บริษัทมีรายได้จากธุรกิจถุงมือยางเพิ่มขึ้นเป็น 34% จากอุปสงค์ที่พุ่งขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น (รวมกำไรหรือขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ราคายาง) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 20.7% จากระดับ 7.2% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสาเหตุมาจากการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงที่เพิ่มมากขึ้นและต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง
ในขณะเดียวกัน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกันโดยอยู่ที่ระดับ 9.5 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับระดับ 2.5 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่จำนวน 4 พันล้านบาทโดยเปรียบเทียบกับผลขาดทุนสุทธิจำนวน 223 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอย่างมากหลังจาก บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 รายได้สุทธิจากการเสนอขายหุ้นใหม่ของบริษัทลูกดังกล่าวจำนวน 1.46 หมื่นล้านบาทส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 8.1% ณ เดือนกันยายน 2563 จากระดับ 51.7% ณ เดือนธันวาคม 2562 ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 19%-31% ในช่วงปี 2563-2565
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสภาพคล่องที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 1.1-1.4 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565 โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 1.89 หมื่นล้านบาทและวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินอีกกว่า 2.57 หมื่นล้านบาท
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติเอาไว้ได้พร้อมทั้งมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจถุงมือยางเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะมีการบริหารความเสี่ยงทั้งที่เกิดจากราคายางธรรมชาติและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ระมัดระวัง รวมทั้งจะยังคงรักษาสภาพคล่องไว้ให้เพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติได้อีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังคงมีจำกัดในระยะใกล้เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทได้รับการปรับเพิ่มไปแล้วในปี 2563 ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่สูงเกินกว่าระดับ 4 เท่า นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งจะทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตด้วยเช่นกัน