LIT วางเป้าพอร์ตสินเชื่อปี 64 โต 10% ปรับแพ็คเกจเจาะ SME-เน้น Digital Marketing

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 9, 2021 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

LIT วางเป้าพอร์ตสินเชื่อปี 64 โต 10% ปรับแพ็คเกจเจาะ SME-เน้น Digital Marketing

นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บรมจ. ลีซ อิท (LIT) เปิดเผยว่า ในปี 64 บริษัทเน้นการตลาดเป็นเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยปรับแพคเกจสินเชื่อให้เหมาะสมกับ SMEs ในยุค New Normal มากขึ้น โดยเน้นกลุ่มธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามองในปีนี้ รวมถึงพัฒนาในส่วนลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relation Management) ในกลุ่มลูกค้าเดิม

ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายเพิ่มการเติบโตในกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มาจากช่องทาง Digital Marketing 100% จากปี 63 และตั้งเป้าเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมที่ 10% จากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 2,728.44 ล้านบาท

ในปีนี้บริษัทยังคงโฟกัสกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก คือ ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งขนาด Micro ขนาดเล็ก และขนาดกลาง โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นคู่ค้ากับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เช่น เทศบาล อบจ. อบต. โดยยังคงสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแฟคตอริ่ง (Factoring) หรือการรับซื้อเอกสารวางบิล ใบตรวจรับ ให้ SMEs สามารถเบิกเงินสดล่วงหน้าก่อน 80-90% ของมูลค่าเอกสาร และสินเชื่ออื่นๆ เช่น เงินกู้สนับสนุนโครงการ (Project Backup Financing), สินเชื่อออกหนังสือคำประกันซองประมูล (Bid Bond), สินเชื่อ Leasing Hire Purchase

นายสมพล กล่าวว่า ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากที่ปรับตัวหันมาประกอบธุรกิจที่สอดรับกับการใช้ชีวิตแบบ New Normal มากขึ้น เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย เครื่องมือทางการแพทย์ หรือธุรกิจ e-commerce หรือ Logistic และมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young Entrepreneurs) เกิดขึ้น

โดยกลุ่มอายุผู้ประกอบการรุ่นใหม่จะอยู่ในช่วง 30-45 ปี มีความรู้เทคโนโลยี และติดตามข่าวสารผ่านทาง Social media จะเห็นได้ว่าจากผลงานที่ผ่านมาในปี 63 LIT มีสัดส่วนลูกค้าจากช่องทาง Digital Marketing เพิ่มขึ้นถึง 50% เทียบจากปี 62 คิดเป็นสัดส่วน 14% ของจำนวนลูกค้าใหม่ทั้งหมดปี 63

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อ ตามแผนการเติบโตอย่างยั่งยืนมาตลอด และในปี 2564 มีเป้าหมายกระจายความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อ โดยจำกัดสัดส่วนธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมไม่เกิน 25% ของพอร์ต และมีเป้าหมายคงสัดส่วนลูกหนี้ภาครัฐที่ 80% และลูกหนี้เอกชนขนาดใหญ่ที่ 20% ของพอร์ตสินเชื่อ

ขณะเดียวกัน บริษัทมีการบริหารจัดการกลุ่มสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยเข้าไปดูแลและบริหารจัดการอย่างใกล้ชิด (Close monitoring) เพื่อป้องกันการเพิ่มจำนวนของลูกค้ากลุ่มนี้ โดยมีนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19อีกด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผน BCP (Business Continuity Planning) เพื่อรองรับแผนการทำงานอย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายเพื่อคงความสามารถในการเติบโตทั้งในส่วนของฝ่ายปฏิบัติการ และพร้อมกับบริหารความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บริหารแหล่งเงินทุน และความเสี่ยงด้านสินเชื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ