นายเอนก พนาอภิชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินงานในปี 63 อินทัช มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 11,048 ล้านบาทใกล้เคียงกับปี 62 ที่มีกำไร 11,083 ล้านบาท เป็นผลมาจากการรับรู้ผลกำไรที่ลดลงของบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากผลกระทบของโควิด 19 และการแข่งขันเพื่อแย่งชิงลูกค้าที่สูงขึ้น รวมทั้งรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ลดลง
ส่วนบมจ.ไทยคม (THCOM) มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น พลิกจากการรับรู้ผลขาดทุนมาเป็นกำไร 211 ล้านบาท เนื่องจากไทยคมมีบันทึกการด้อยค่าทรัพย์สินดาวเทียมและรับรู้รายได้จากเงินชดเชย
นายเอนก กล่าวว่า เอไอเอสถือครองคลื่นความถี่ 4G และ 5G ครอบคลุมมากที่สุดในไทยรองรับการใช้งานของลูกค้าในยุคดิจิทัลไลฟ์ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคใช้จ่ายลดลงมีการแข่งขันทางการตลาดเพื่อแย่งชิงลูกค้าที่สูงขึ้นส่งผลให้เอไอเอสมีผลกำไรสุทธิในปี 63 ที่ไม่รวมผลกระทบจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 เรื่อง สัญญาเช่า(TFRS16) อยู่ที่ 28,423 ล้านบาท ลดลง 8.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 6.5% เพราะผู้ใช้บริการลดลงมาอยู่ที่ 41.4 ล้านราย
แต่ในทางกลับกันรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น 22% เพราะมีการปรับตัวในการใช้ชีวิตที่ต้องเรียน และทำงานที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการใหม่เพิ่มขึ้น 3 แสนราย รวมจำนวนผู้ใช้บริการ ณ สิ้นปี 63 ประมาณ 1.3 ล้านราย ในส่วนของรายได้อื่นๆ ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากการใช้งานด้าน Cloud และICT ของลูกค้าองค์กรที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ต้นทุนในการดำเนินงานใกล้เคียงกับปี 62 เนื่องจากยังมีการลงทุนโครงข่าย 4G และ 5G ที่ 35,000 ล้านบาทอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานทั่วประเทศในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลไลฟ์ที่มีคลื่นความถี่มากที่สุดในประเทศไทย ครบทุกย่านความถี่ ตั้งแต่ย่านความถี่ต่ำ 700 เมกะเฮิรตซ์ 900 เมกะเฮิรตซ์ ย่านความถี่กลาง 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2100 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และย่านความถี่สูง 26 กิกะเฮิรตซ์
สำหรับไทยคม จับมือพันธมิตรขยายธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและดาวเทียมในปีที่ผ่านมา ไทยคมมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 514 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนในปี 62 ที่ 2,250 ล้านบาท เนื่องจากการรับรู้รายการพิเศษ ซึ่งในปี 62 ไทยคมมีการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษจำนวน 1,946 ล้านบาท โดยเป็นการบันทึกการด้อยค่าสินทรัพย์ดาวเทียมเป็นหลัก ขณะที่ปี 63 มีการรับรู้รายได้พิเศษจำนวน 649 ล้านบาท โดยเป็นการรับรู้รายได้อื่นจากเงินชดเชยเป็นหลัก
ขณะที่รายได้จากการขายและการให้บริการในปี 63 อยู่ที่ 3,557 ล้านบาท ลดลง 24% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงของรายได้จากธุรกิจดาวเทียมและบริการที่เกี่ยวเนื่องเป็นหลัก โดยรายได้จากดาวเทียมแบบทั่วไปลดลงร้อยละ 16 จากปี 62 เนื่องจากการยุติการใช้บริการของลูกค้าบางส่วนจากการปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 ทำให้อัตราการใช้งานดาวเทียมทั่วไป (ที่ไม่รวมดาวเทียมไทยคม 5) ณ สิ้นปี 63 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 64% จาก ณ สิ้นปี 62 ที่ 55%
ส่วนอัตราการใช้งานดาวเทียมบรอดแบนด์อยู่ที่ 19% ลดลงจาก 23% ณ สิ้นปี 62 เนื่องมาจากการสิ้นสุดสัญญาการใช้บริการและการลดการใช้งานของลูกค้าต่างประเทศบางรายจากสภาวะการชะลอตัวของอุตสาหกรรมดาวเทียม ไทยคมจึงมุ่งหาพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและดาวเทียมโดยจัดตั้ง 2 บริษัทใหม่ขึ้น ได้แก่ บริษัท เนชั่น สเปซ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด (เนชั่นสเปซ) ให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวกับดาวเทียม และบริษัท เอทีไอ เทคโนโลยี จำกัด (เอทีไอ) เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนเพื่อการเกษตร
ส่วนอินเว้นท์ เน้นการลงทุนที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ในปี 63 อินทัชลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่เป็นธุรกิจเกิดใหม่และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ภายใต้โครงการอินเว้นท์ รวม 5 บริษัท คือ บริษัท ดาต้าฟาร์ม จำกัด ธุรกิจเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ผู้ให้บริการทดลองเจาะระบบ และบริการตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศแก่ลูกค้าองค์กร
บริษัท แอกซินัน พีทีอีลิมิตเต็ด ธุรกิจเทคโนโลยีประกันภัยสมัยใหม่ (InsurTech) ให้บริการเทคโนโลยีประกันภัยดิจิทัล บริษัท พาโรนีม ธุรกิจเทคโนโลยีวิดีโอเชิงโต้ตอบ (Interactive Video Technology) ที่ต่อยอดด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ บริษัท ชมชอบกรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนแต้มเป็นเงิน (Point Exchanges & Redeem Platform) และบริษัท สวิฟท์ ไดนามิคส์ จำกัด ผู้ให้บริการซอฟท์แวร์และคำปรึกษาด้านการก่อสร้างและซ่อมบำรุงผ่านระบบคลาวด์ และเทคโนโลยีไอโอที (Internet of Things (IoT)) รวมทั้งได้ลงทุนเพิ่มใน 3 บริษัท คือ บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ จำกัด บริษัท ช็อคโก้ คาร์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และบริษัท อีเว้นท์ ป็อป โฮลดิ้งส์ พีทีอี ลิมิเต็ด ทำให้จำนวนเงินลงทุนรวมในปี 63 อยู่ที่ 279 ล้านบาท
นอกจากนี้ ได้ขายหุ้นที่ลงทุนในบริษัท โซเชี่ยล เนชั่น และ บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด ทำให้มูลค่าพอร์ตการลงทุนภายใต้โครงการอินเว้นท์ ณ สิ้นปี 63 อยู่ที่ 975 ล้านบาท และมีบริษัทที่อยู่ในพอร์ตรวมทั้งสิ้น 18 บริษัท
อินทัช ยังคงเดินหน้าหาการลงทุนใหม่เพื่อสร้างรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยลงทุนในธุรกิจดิจิทัลไลฟ์สไตล์และขยายการลงทุนในสตาร์ทอัพต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย รวมทั้งสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับกลุ่มอินทัชเพื่อเข้าถึงโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5G คลาวด์ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ เทคโนโลยีอัจริยะต่างๆที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป