นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) หรือ เอสซีจี เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจเอสซีจี ประจำปี 64 ว่า บริษัทจะมุ่งดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ตลอดกระบวนการทำงาน โดยพร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ด้วยการให้ความสำคัญกับการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Management - BCM) และการลงมือปฏิบัติให้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและสร้างการเติบโตระยะยาว ด้วยกลยุทธ์ 2 ด้าน คือ
1. ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environment, Social, Governance) โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และนำของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด ตั้งเป้าเดินหน้าองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี 93 และมุ่งต่อยอดนวัตกรรมสู่ธุรกิจ Solar Energy เพื่อตอบโจทย์การใช้พลังงานทางเลือก
2. ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจสู่ New Normal Digitalization โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาช่องทางออนไลน์ เพื่อเสนอสินค้าและบริการ พร้อมโซลูชันครบวงจร ตอบสนองความต้องการและวิถีชีวิตของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมมูลค่าสูง (High Value Added Products & Services ? HVA) ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงมองหาโอกาสในตลาดใหม่ที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และขยายธุรกิจเพิ่มเติมในกลุ่มสินค้าและบริการที่มีความต้องการสูงขึ้น เช่น การต่อยอดธุรกิจสู่ Health & Well-Being Business
ทั้งนี้ หากแบ่งไปตามธุรกิจใน 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในปีนี้จะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสินค้าและบริการ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะในเรื่องของการปรับปรุง ซ่อมแซมบ้านที่มีมากขึ้น ภายใต้แนวคิด Well-Being Living ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้ามีความสะดวกสบายมากขึ้น
ด้านธุรกิจเคมิคอลล์ จะมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับเทรนในอนาคต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า EV รวมถึงลงทุนในโครงการเดิม โครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม ซึ่งปีนี้วางงบลงทุนเพิ่มอีก 10% ของงบลงทุนรวมในปี 64
ส่วนธุรกิจแพจเกจจิ้ง ยังให้ความสำคัญกับการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูภาคอาเซียน รวมถึงสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจ โดยมุ่งขยายฐานลูกค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีศักยภาพเติบโตสูง ล่าสุดได้เข้าถือหุ้นใน Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ช่วยเสริมความแข็งแกร่งกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ต้นน้ำในประเทศเวียดนาม และการเข้าถือหุ้นใน Go-Pak UK Limited (Go-Pak) ผู้นำในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อาหารในสหราชอาณาจักร ยุโรป และอเมริกาเหนือ ที่มีฐานการผลิตอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม ช่วยเพิ่มศักยภาพการขยายตลาดบรรจุภัณฑ์อาหาร
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงวางงบลงทุนปี 64 ที่ 6.5-7.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับกับการดำเนินธุรกิจทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเดิมในประเทศเวียดนาม หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค เป็นต้น อีกทั้งยังมองโอกาสการลงทุนในประเทศเวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลลิปปินส์ อย่างต่อเนื่อง จากมีศักยภาพการเติบโต
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น บริษัทยอมรับว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเนื่องจากราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนการผลิต รวมถึง SCC ยังมีการส่งออกค่อนข้างมาก ทำให้รายได้ปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ก็เตรียมนำเอาพลังงานทดแทนมาใช้ และบริหารจัดการ Supply chain ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุน ทำให้สินค้าของบริษัทเป็นที่ต้องการต่อเนื่อง
ขณะที่กรณีประเทศเมียนมา มีการทำรัฐประหาร ในแง่ของ SCC จะเน้นการให้ความปลอดภัยกับพนักงาน ซึ่งมีจำนวนรวมกันราว 2 พันคน และส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมา โดยบริษัทยังคงติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
"เราคิดว่าปัจจัยของความสำเร็จ คือ ต้องเข้าใจว่าผู้บริโภคต้องการอะไร, พร้อมปรับตัว, การทำงานต้องรวดเร็ว ซึ่งวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้มีความรุนแรงอย่างมาก แม้เราจะไม่ทราบว่าผลกระทบจะยาวนานเพียงใด แต่เราเห็นทางออก หรือเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส โดยการปรับตัวให้อยู่ได้ในระยะยาว" นายรุ่งโรจน์ กล่าว