(เพิ่มเติม) ธปท.อนุมัติขยายวงเงินนักลงทุนไทยลงทุนตปท.เพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านดอลล์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 3, 2007 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล  เลขาธิการ สำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุมัติให้ขยายวงเงินลงทุนที่ผู้ลงทุนไทยจะออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิม 6.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดย ก.ล.ต.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต.ภายในเดือนนี้ เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ รวมทั้งประสานงานกับภาคเอกชนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดที่ ธปท.อนุญาตยังมีปัญหาอยู่ คือ ผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาที่จะไปลงทุนต่างประเทศ ควรจะอนุญาตให้สามารถลงทุนได้โดยตรง เพื่อจะได้ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในค่าบริหารจัดการกองทุน โดยเฉพาะหากเป็นการลงทุนในตลาดที่มีการกำกับที่ดีอยู่แล้ว โดย ก.ล.ต.จะมีการหารือกับ ธปท.อีกครั้ง
นายธีระชัย กล่าวว่า การลงทุนในต่างประเทศขณะนี้ต้องคำนึงความเสี่ยงสำคัญคือปัญหาซับไพร์มที่ยังไม่นิ่งและอาจส่งผลกระทบต่อไปถึงปีหน้า เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยผิดพลาดโดยการตรึงดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานานเกินไป
ประกอบกับ ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินมีการแปลงสินเชื่อ หรือลูกหนี้เป็นตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง (CDO)ที่กลายมาเป็นปัญหาซับไพร์มในปัจจุบัน
"ซับไพร์มยังมีความเสี่ยง และจะกระทบต่อการลงทุนในตลาดในตลาดหุ้นต่อไป แต่ต้องขึ้นกับทางการของสหรัฐว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือได้มากน้อยเพียงใด"นายธีระชัย กล่าว
ส่วนธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่ลงทุน CDO แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาซับไพร์มแต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะปัญหาซับไพร์มยังไม่นิ่ง
"แบงก์ที่ลงทุนใน CDO ที่แม้ไม่ลงทุนในซับไพร์ม ก็อย่าได้คิดว่าจะรอด เพราะปัญหา NPL ยังไม่นิ่ง และหลายฝ่ายก็มองว่าอาจจะยืดเยื้อไปถึงปีหน้า เพราะตอนนี้ดอกเบี้ย FED FUND ก็ปรับขึ้นไป 4 -5% ย่อมเป็นแรงกดดันให้ผู้ที่กู้ซื้อบ้านต้องมีภาระดอกเบี้ยจ่ายมากขึ้น" นายธีระชัย กล่าว
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า ก.ล.ต.เตรียมที่จะเข้าไปตรวจสอบการบันทึกบัญชีของธนาคารพาณิชย์ที่ลงทุนใน CDO เพราะกังวลว่าอาจมีการบันทึกที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง รวมทั้งจะมีการหารือกับศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้เพื่อให้มีการปรับวิธีการประเมินมูลค่าทางบัญชีให้กว้างขึ้น เพื่อป้องกันไม่เกิดความเสี่ยงเหมือนต่างประเทศ
การบันทึกราคาปัจจุบันของตราสารหนี้(mark to market)เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ก.ล.ต.จึงได้ออกหนังสือไปยังสภาวิชาชีพบัญชีให้ดูแลและให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากหากมีการลงบันทึกในราคาที่สูงเกินไปจะไม่เป็นธรรมกับผู้ลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในตราสาร แต่หากลงบันทึกในราคาที่ตำเกินไปก็จะไม่เป็นธรรมกับผู้ลงทุนปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือผู้สอบบัญชีจะต้องตีราคาให้เป็นธรรมที่สุด
นอกจากนั้นยังได้ทำหนังสือสอบถามไปยังบริษัทจัดอันดับเครคิตรายใหญ่ในต่างประเทศบางแห่ง ก.ล.ต.ในต่างประเทศ และบริษัทผู้สอบบัญชีขนาดใหญ่ต่างประเทศที่มีสำนักงานในไทยเกี่ยวกับการลงบันทึกราคา เพราะบริษัทจัดการบางแห่งไม่ได้ลงบันทึกตามเกณฑ์ แต่ใช่สูตรคำนวณของตนเอง(mark to model) จึงสอบถามไปยังหน่วยงานเหล่านั้นว่า วิธีคิดที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายจะเป็นอย่างไร เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ