กลุ่มเหล็กบวกตามกระแสข่าวควบรวม โบรกฯมองอาจได้ประโยชน์ไม่มาก

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 18, 2007 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ราคาหุ้นกลุ่มเหล็กหลายตัวบวกรับกระแสข่าวควบรวม โบรกเกอร์เตือนระวังดีลอาจไม่เกิดจริง หรือถ้ามีก็น่าจะแค่จับมือเป็นพันธมิตร โดยมองว่าการควบรวมในอุตสาหกรรมระดับเดียวกัน เกิดประโยชน์น้อยกว่าการร่วมมือกับธุรกิจต้นน้ำ
ราคาปิดพักเที่ยง
หุ้น AMC ปิดที่ 2.70 บาท บวก 0.08 บาท (+3.05%)
หุ้น NSM ปิดที่ 0.32 บาท บวก 0.01 บาท (+3.23%)
หุ้น TYM ปิดที่ 3.00 บาท บวก 0.04 บาท (+1.35%)
หุ้น TSTH ปิดที่ 1.62 บาท บวก 0.01 บาท (+0.62%)
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.แอ๊คคินซัน กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มเหล็กบวกขึ้นมาตามการเข้ามาเก็งกำไรจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นว่าจะมีการควบรวมกิจการ และการเข้าไปถือหุ้นเป็นพันธมิตรกัน ซึ่งทุกอย่างยังไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะในกลุ่มเหล็กมีการปล่อยข่าวในทำนองนี้หลายครั้ง
สำหรับกรณีของบมจ.เอเชีย เมทัล(AMC) และ บมจ.ไทยง้วนเมทัล (TYM)ที่มีข่าวว่า TYM จะเข้าไปซื้อหุ้นล็อตใหญ่จากผู้ถือหุ้นเดิมของ AMC ก็ได้มีการปฏิเสธข่าวออกมาแล้ว
"แต่ในเชิงราคาหุ้นต้องระวังเรื่องการปล่อยข่าวเพื่อสร้างราคา เพราะส่วนใหญ่มีข่าวว่าบริษัทนี้มาซื้อบริษัทนั้น ไม่ค่อยมีจริงๆที่จะมาควบรวม มีก็มีน้อย แต่ส่วนใหญ่ร่วมมือเป็นพันธมิตร ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยข่าวกันมากกว่า"นายมงคล กล่าว
นายมงคล มองว่า เท่าที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจเหล็กมีกระแสข่าวลือเกิดขึ้นหลายเรื่อง ทั้งได้งานต่างประเทศใหม่ เพิ่มทุน มีพันธมิตรใหม่ จ่ายเงินปันผล ล้างขาดทุนสะสม และโดยเฉพาะควบรวมกิจการ ซึ่งในแง่ของการควบรวมกิจการกันเองในกลุ่มมองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้มาก และไม่น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมระดับเดียวกัน แต่หากเป็นการควบรวมกับอุตสาหกรรมต้นน้ำน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า
"ถ้าหาก AMC รวมกับ SSI หรือ NSM มองแล้วอาจไม่ได้รับผลดี เพราะมีปัญหาฐานะการเงิน และจะช่วยอะไรได้ไหมก็ไม่รู้...ที่ผ่านมาข่าวกลุ่มนี้ก็ออกข่าววนอยู่อย่างนี้ ราคาหุ้นก็เป็นไปตามกระแสข่าว หุ้นกลุ่มนี้ก็ไม่ค่อยได้มีตัวเด่น"นายมงคลกล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของธุรกิจเหล็กขณะนี้ยังมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เพราะเป็นขาลง เนื่องจากต้องนำเข้าเศษเหล็กมาแปรรูป ซึ่งพบปัญหาความเสี่ยงทั้งตัวราคาวัตถุดิบ และอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ราคาขายในประเทศก็ถูกควบคุมโดยทางการ
ขณะที่นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) มองอีกมุมหนึ่งว่า นับจากช่วงนี้ไปถึงปี 51 น่าจะได้เห็นการเทคโอเวอร์เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย เพื่อรวมกันให้ฐานธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นหนทางรอดในธุรกิจ เพราะแม้ว่าตลาดเหล็กยังมีการขยายตัวตามตลาดจีนและอินเดีย แต่กำไรไม่ได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ แนวโน้มจะไม่ใช่การควบรวมกิจการหรือร่วมทุนเพราะอาจเกิดปัญหาในการบริหาร แต่จะเป็นรูปแบบการเทคโอเวอร์ หรือขายกิจการมากกว่า
"บอกได้เลยว่ากลุ่มเหล็กจะยังอยู่ในช่วง consolidation period ไปอีกนานพอสมควร ใน 1-3 ปี ในแง่พื้นฐาน Outlook ยังไม่ชัดเจน"นายอดิศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ