RATCH ลุยเพิ่มกำลังผลิต 700 MW ปีนี้ จาก M&A-ขยายนอกอาเซียน-ร่วมพันธมิตรเดิม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 16, 2021 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าปี 64 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีก 700 เมกะวัตต์ จากการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว กำลังการผลิต 350 เมกะวัตต์, ขยายโอกาสการลงทุนนอกประเทศอาเซียนและออสเตรเลีย เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นตลาดที่ธุรกิจพลังงานทดแทนเติบโต ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายกำลังผลิตพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 2,500 เมกะวัตต์ในปี 68 รวมถึงขยายธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวล อีกทั้งต่อยอดความร่วมมือกับพันธมิตรรายเดิมเพื่อขยายการลงทุนโครงการใหม่ๆ ร่วมกันด้วย

สำหรับการลงทุนเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าฯ ดังกล่าว บริษัทฯ มีความสนใจทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักและพลังงานทดแทน โดยวางเป้าหมายการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในปีนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 5 โครงการ ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรหลายราย คาดว่าจะสามารถสรุปดีลได้ราว 1 โครงการในไตรมาส 1/64

ส่วนธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านพลังงานนั้น โดยโครงการด้านระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูที่บริษัทเข้าร่วมทุน ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาและระบบไฟฟ้าแล้วเสร็จกว่า 60% คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 65, โครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์บางประอิน-นครราชสีมา และมอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี คาดว่าจะลงนามสัญญาสัมปทานภายในปีนี้

ขณะที่โครงการเกี่ยวเนื่องด้านพลังงาน ได้แก่ การร่วมทุนนวัตกรรมด้านไฟฟ้ากับกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าจะสามารถลงนามจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ในปีนี้, โครงการจัดตั้งโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่ง สปป.ลาว กำลังการผลิต 80,000 ตันต่อปี คาดเริ่มก่อสร้างโรงงานในแขวงจำปาสักภายในปีนี้ ซึ่งจะผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในปี 65

รวมถึง RATCH ก็อยู่ระหว่างศึกษาร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และธุรกิจท่อส่งน้ำมันทางภาคเหนือ กับ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) หลังจาก RATCH เข้าถือหุ้นใน BAFS แล้ว 15.53% เนื่องด้วยแผนการดำเนินงานของ BAFS มีนโยบายที่จะ diversify ธุรกิจออกไปจากธุรกิจท่อส่งน้ำมันมากขึ้น โดย BAFS วางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันเป็น 50% ภายใน 5 ปีจากนี้

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของ BAFS ในปีนี้มองว่าเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นปีเดียวที่กำไรสุทธิปรับตัวลง แต่หากดูในงบการเงินของบริษัทจะเห็นว่ามีกำไรสุทธิมาโดยตลอดระยะเวลา 10 ปี ทำให้บริษัทมีความมั่นใจว่า BAFS จะยังเติบโตต่อเนื่อง จากคาดว่าโควิด-19 จะยุติลงได้ในสิ้นปี 64 หรือต้นปี 65 ขณะเดียวกันนอกจากที่ BAFS ให้บริการท่อส่งน้ำมันแล้ว ก็มีการให้บริการในด้านการขนส่งด้วย

นายกิจจา กล่าวว่า RATCH วางงบลงทุนปี 64 ไว้ที่ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนในโครงการเดิม จำนวน 8,000 ล้านบาท และโครงการใหม่ 7,000 ล้านบาท เช่น M&A โดยปีนี้ก็มีแผนออกหุ้นกู้เพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าวด้วย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะออกเป็นสกุลเงินบาทหรือสกุลดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการออกและเสนอขายหุ้นกู้

ด้านการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 64 บริษัทฯ เตรียม COD โครงการโรงไฟฟ้าอีก 4 โครงการ รวมกำลังผลิตตามการถือหุ้น 537.04 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน ออสเตรเลีย กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 149.94 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 70%), โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์ ออสเตรเลีย 226.8 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 100%), โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย 145.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 49%) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong เวียดนาม 15.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 51%)

ส่วนโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 6,700 เมกะวัตต์นั้น บริษัทจะมุ่งเน้นบริหารประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิง ต้นทุนการผลิต และควบคุมการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งจะมีกำลังการผลิตโครงการละ 3-6 เมกะวัตต์ด้วย โดยสนใจในส่วนของภาคใต้และภาคอีสาน จากปัจจุบันมีการลงนาม MOU กับชุมชน 2 แห่งแล้ว คาดใช้งบลงทุนราว 50 ล้านบาท/1 เมกะวัตต์

นายกิจกา กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยรวมเพิ่มขึ้นแตะ 10,000 เมกะวัตต์ในปี 68 และวางเป้าหมายสัดส่วนกำไรก่อนจะหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย, ภาษี, ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจที่ไม่ใช่โรงไฟฟ้า ภายใน 5 ปี ปรับเพิ่มเป็น 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 5% เนื่องจากธุรกิจไฟฟ้ามีผู้เล่นมากขึ้น โดยบริษัทจะมองหาการลงทุนในธุรกิจสัมปทาน เช่น รถไฟฟ้า, ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือธุรกิจที่มีลักษณะผูกขาด เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยและคู่แข่งสามารถเข้ามาได้ยาก อย่างเช่น BAFS เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ