สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวม ให้เป็นปัจจุบัน มีความยืดหยุ่นและเข้าใจได้ง่าย เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจและให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน
ตามแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสจากความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ โดยการสร้างความสามารถในการแข่งขันภายใต้โครงการ Regulatory Guillotine ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้แผนดังกล่าวเพื่อให้มีกฎเกณฑ์เท่าที่จำเป็น ขณะที่การใช้บังคับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานและรองรับกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน
ก.ล.ต. จึงได้พัฒนา ทบทวน และปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมซึ่งครอบคลุมการจัดการกองทุนรวมตั้งแต่เริ่มกองทุนจนถึงเลิกกองทุน โดยได้ดำเนินการดังนี้
(1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นและเข้ากับยุคสมัย เช่น ปรับปรุงช่องทางการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุนจากเดิมที่ข้อมูลบางประเภทกำหนดให้เปิดเผย ณ ที่ทำการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือสถานที่ซื้อขาย ปรับเป็นผ่านช่องทางที่เข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึง นอกจากนี้ ยังปรับวิธีการเขียนหลักเกณฑ์โดยใช้แผนภาพและตารางช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าใจได้ง่ายและสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ได้อย่างถูกต้อง
(2) ยกเลิกหลักเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับหลักเกณฑ์อื่น เช่น ยกเลิกหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ บลจ. ต้องแจ้งช่องทางรายงานประจำปีของกองทุนรวมแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบ เนื่องจากมีหลักเกณฑ์กำหนดให้จัดส่งรายงานประจำปีให้ผู้ถือหน่วยลงทุนและเผยแพร่บนเว็บไซต์ บลจ. อยู่แล้ว และยกเลิกหลักเกณฑ์การอบรมผู้จัดการกองทุนในประกาศฉบับนี้ เนื่องจากประกาศว่าด้วยเรื่องบุคลากรได้กำหนดเรื่องดังกล่าวไว้อยู่แล้ว
(3) รวมหลักเกณฑ์เรื่องเดียวกันไว้ที่เดียวกัน เช่น นำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอมติผู้ถือหน่วยของกองทุนไปรวมไว้ในประกาศว่าด้วยการขอมติผู้ถือหน่วยลงทุน
นอกจากนี้ ยังมีการแยกหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นประกาศเฉพาะ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานและแก้ไข โดยจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป