โบรกฯมองไลเซ่นส์ 3G ทำเอกชนลงทุนสูงแต่อนาคตดี-หลุดบ่วงสัมปทานเดิม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 4, 2007 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บล.ทรีนีตี้ มองแนวโน้มธุรกิจโทรคมนาคมเข้าสู่ระบบ 3G มีอนาคตดีขึ้น แม้จะมีการลงทุนสูงเนื่องจากมีภาระการลงทุนในการแปลงโครงข่ายของผู้ให้บริการแต่ละรายจะอยู่ที่ประมาณ 2.5-3.5 เท่าของงบลงทุน(CAPEX)แต่ละปี และต้นทุนของใบอนุญาตใหม่น่าจะอยู่ระหว่าง 15-20%ขณะที่ยอดความต้องการใช้ยังไม่แน่ใจจะคุ้มค่าการลงทุน  คาดใบอนุญาต 3G จะออกได้ในปี 51 และหวังเป็นแนวทางหลุดพ้นจากสัมปทานเดิม ดังนั้น จึงคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มสื่อสารและโทรคมนาคมมากกว่าตลาด
"ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ดีหรือไม่แต่อยู่ที่ เมื่อไหร่ จากที่เราได้รับฟังข้อมูลของวิทยากรจากทาง กทช., AIS, DTAC และ ERICSSON ทำให้เรามั่นใจในแนวโน้มและอนาคตของ 3G มากขึ้น" บทวิเคราะห์ทรีนีตี้ระบุ
จากแนวโน้มการเติบโตของบริการประเภทข้อมูล และการแนวโน้มที่เกิดจากการผลักดันโดยเทคโนโลยี (technology push) ซึ่งเป็นแนวโน้มของโทรคมนาคมโลก ปัจจัยวนับสนุนที่สำคัญอีกประการคือ 3G น่าจะสามารถแก้ปัญหาตกค้าง เช่น ความขัดแย้งจากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่เดิม
นอกจากนี้จากการประมาณการของบล.ทรีนีตี้ คาดภาระการลงทุนในการแปลงโครงข่ายของผู้ให้บริการแต่ละรายจะอยู่ที่ประมาณ 2.5 — 3.5 เท่าของงบลงทุน (CAPEX) แต่ละปี อย่างไรก็ตามด้วยข้อดีของเทคโนโลยีที่สนับสนุนเรื่องการเปลี่ยนผ่าน ทำให้อุปกรณ์ 3G สามารถนำมาใช้กับ 2-2.5G ได้ ดังนั้นเราน่าจะเห็นการทยอยปรับปรุงโครงข่ายทดแทนของเดิม ซึ่งไม่แทบต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มกว่าปกติหากบริษัทตั้งเป้าปรับโครงข่ายใน 3 ปี
รวมทั้ง ต้นทุนของใบอนุญาตใหม่น่าจะอยู่ระหว่าง 15-20% มาจากโครงสร้างต้นทุนของใบอนุญาตใหม่จะมีอยู่ประมาณ 2 ส่วนได้แก่ ต้นทุนจากการใช้ความถี่ (Radio Frequency Assignment License) และ ต้นทุนจากใบอนุญาตประกอบกิจการ (Telecom business License)
อย่างไรก็ตามยังไม่มีการพูดถึงต้นทุนจาการใช้ความถี่ ซึ่งอยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศทำการศึกษาถึงมูลค่าของคลื่นความถี่ และรูปแบบในการจ่ายชำระสำหรับผู้ลงทุน ซึ่งอาจมีการเว้นช่วงปลอดภาระในช่วงต้นของการลงทุน ทั้งนี้เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด
"เราคาดว่ามีโอกาสสูงที่ต้นทุนจากความถี่หรือจากใบอนุญาตจัดสรรความถี่ จะสูงกว่าต้นทุนจากใบอนุญาตประกอบกิจการ ประกอบกับประเด็นของทรัพยากรจำกัดของชาติเป็นประเด็นอ่อนไหวซึ่งหากการเก็บต้นทุนส่วนนี้ต่ำไป อาจเกิดปัญหากับสังคมหรือมีปัญหาในการอธิบายต่อสังคม"
ดังนั้น เราประมาณ ต้นทุนจากความถี่ที่ 8-13% ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการประกอบการรวมสำหรับผู้ให้บริการมือถือในระบบ 3G น่าจะอยู่ที่ 15-20%
ขณะที่จากผลการศึกษาของ ERICSSON การคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอ การเติบโตของข้อมูลและอินเตอร์เน็ต มีอัตรารวดเร็วมาก
ทั้งนี้ ใบอนุญาต 3G น่าจะออกได้ปีหน้า โดยยังอยู่ระหว่างศึกษาเรื่องการให้ใบอนุญาต 3G ซึ่งได้เคยรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อมิถุนายน 2549 ปัจจุบัน กทช. อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาและนำเสนอรูปแบบการให้บริการ 3G ในประเทศไทย รูปแบบการคิดค่าธรรมเนียมจากคลื่นความถี่และการให้ระยะเวลาปลอดภาระค่าใช้จ่าย การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ 3G ในไทย ซึ่งแม้มีช่วงของคลื่นความถี่ที่ว่างแต่บางส่วนถูกใช้โดยบริการโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิก ซึ่งจะได้ผลสรุปประมาณ 2 เดือน หรือน่าจะภายตุลาคมนี้
"เราอาจเห็นการออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตามเราคาดการณ์การออกใบอนุญาตในปีหน้าหรือ 2551"
ทั้งนี้ ใบอนุญาต 3G มีนัยสำคัญต่อการเริ่มต้นยุคใหม่ของการแข่งขันที่เท่าเทียม ตลอดจนเปิดโอกาสให้กับผู้แข่งขันรายย่อย หรือผู้ให้บริการรายเล็ก สามารถอยู่ในอุตสาหกรรมได้ และเราอาจได้มีโอกาสเห็นผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (Mobile Virtual Network Operator) ในอนาคตอันใกล้
รวมถึงเป็นแนวทางหลุดพ้นจากวังวนของสัมปทานเดิมที่ธุรกิจโทรคมนาคมถูกกดดันมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาจากปัญหาความถูกต้องของสัมปทาน ตลอดจนการแก้ไขสัมปทานในอดีตหลายครั้ง
ดังนั้น บล.ทรีนีตี้จึงคงน้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาด เพราะมองภาวะอุตสาหกรรมให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กลับสู่ความมีเสถียรภาพ และความเสี่ยงจากการตรวจสอบสัมปทานมีนัยสำคัญลดลงมาก ประกอบกับแนวโน้มที่ดูดีและโอกาสที่ต้นทุนจะปรับลดลงจากระดับประมาณ 25-30% เหลือ 20%+/- ซึ่งน่าจะเป็นบวกกับผู้ประกอบการ และความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาออกใบอนุญาตที่เราเชื่อว่า กทช. จะพยายามเร่งให้ลุล่วงเพื่อกันการล่าช้าอันอาจเกิดจาก กสทช.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ