นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า จากการที่บริษัทเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก อายุโครงการประมาณ 1 ปี มาแล้ว 15 ซีรีส์ ตั้งแต่เดือน ก.ค.63 เสียงตอบรับในกองทุนดังกล่าวยังมีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถระดมทุนได้แล้วกว่า 43,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่บริษัทเป็นผู้บุกเบิกกองทุนประเภทดังกล่าวและประสบความสำเร็จในการขายตามเป้าหมายเป็นอย่างดี และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนที่มองหาโอกาสรับผลตอบแทนในกองทุนประเภท Term Fund โดยสามารถกระจายพอร์ตการลงทุนไปทั่วโลกเพื่อรับผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศในช่วงภาวะดอกเบี้ยต่ำระยะยาวและสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจปัจจุบัน
บริษัทจึงเดินหน้าเปิดขายกองทุนอีก 3 กองทุน คือ กองทุนเปิดกรุงไทย โกลบอล ฟิกซ์ อินคัม 1Y16 ในระหว่างวันที่ 19-25 ก.พ.64 และ กองทุนเปิดกรุงไทย โกลบอล ฟิกซ์ อินคัม 1Y17 และ 1Y18 ใน เดือน มี.ค.64 ตามลำดับ
สำหรับกองทุนเปิดกรุงไทย โกลบอล ฟิกซ์ อินคัม 1Y16 เป็นกองทุนตราสารหนี้ โดยจะลงทุนในทรัพย์สินประเภทตราสารหนี้ รวมกันทุกขณะไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุนมี นโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝาก และ/หรือตราสารการเงินที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับ ที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) และ/หรือลงทุนในหน่วย CIS ของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินประเภท ตราสารหนี้
อย่างไรก็ตาม กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในตราสารแห่งหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารต่ำกว่า ที่ สามารถลงทุนได้ (non ? investment grade) และ/หรือตราสารแห่งหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Securities) ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ทั้งนี้ กองทุนจะพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่เสนอขายในต่างประเทศ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งกองทุนอาจพิจารณาลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน และ/หรือลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่น ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด หรือเห็นชอบให้ลงทุนได้ ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่า ทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ส่วนที่เหลือ กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์ที่เสนอขายในประเทศ ได้แก่ เงินฝาก ตราสารทางการเงิน ตราสารแห่งหนี้ และ/หรือ ลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
ทั้งนี้ กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อลดความเสี่ยง (Hedging) หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (Efficient Portfolio Management) ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก. ล.ต. และ/หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด และอาจลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note) รวมถึงอาจพิจารณาลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน (FX Derivatives) ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. และ/หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ
โดยหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ที่คาดว่าจะมีการลงทุนเกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนของกองทุน KTGF1Y16 คือ Invesco Asian Bond Fixed Maturity Fund 2022 ? V (Class C USD Acc) ที่บริหารโดย Invesco บลจ.ระดับโลก ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในเน้นสร้างรายได้ผ่านช่วงเวลาการลงทุนที่กำหนด และคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุกองทุน (ทั้งนี้ กองทุนไม่ได้รับประกันเงินต้น)
รวมถึงมุ่งหมายที่จะบรรลุจุดประสงค์การลงทุนโดยใช้กลยุทธ์ buy-and-maintain ใน ตราสารหนี้สกุลเงิน USD ผ่านการพิจารณาความเสี่ยงเชิงรุก ในระยะเวลาการลงทุน 1 ปีนับจากช่วง Initial Offer Period ไป จนถึงช่วงครบอายุกองทุน ซึ่งมีนโยบายลงทุน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมในตราสารหนี้ ในภูมิภาคเอเชียที่อยู่ในสกุลเงิน USD ที่ออกโดยผู้ออกตราสารที่ถูกพิจารณาคัดเลือกโดยดุลยพินิจของผู้จัดการ (เช่น รัฐบาล หน่วยงานรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศที่มีลักษณะเหนือรัฐ (Supranational Entities) กลุ่มบริษัท สถาบันการเงิน และกลุ่มธนาคาร) ซึ่งอาจรวมถึงผู้ออกตราสารที่อยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ในกองทุนนี้ หมายถึง ประเทศทุกประเทศในทวีปเอเชีย ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น แต่รวมถึง ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์