เป็นที่ทราบกันแล้วว่าเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.) มีการรายงานตามประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขที่มีการปลดล็อกให้บริษัทเอกชนสามารถขอใบญาตดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชง ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยหลายๆรายมีการแสดงเจตจำนงขอใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับกัญชงเป็นจำนวนมาก
แม้ว่าวันนี้จะยังไม่มีบริษัทจดทะเบียนรายใดได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ แต่ราคาหุ้นหลายบริษัทที่มีสตอรี่เกี่ยวกับเรื่องนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง กลายเป็นการตั้งข้อสังเกตุว่าราคาหุ้นที่ได้ประโยชน์จากธีมกัญชงในรอบนี้จะเป็นแค่แรงซื้อเก็งกำไรสั้นๆ หรือจะเป็นจุดเปลี่ยนสร้างผลประกอบการให้เติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) (MBKET) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า ปัจจุบันบริษัทเอกชนอยู่ขั้นตอนการขอใบอนุญาตจาก อย.เพื่อประกอบการธุรกิจจากกัญชง เบื้องต้นประเมินระยะเวลาการเพาะปลูกกัญชงเพื่อมาเป็นวัตถุดิบผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-6 เดือน แม้ว่าจะมีเกษตรบางกลุ่มเริ่มเพาะปลูกกัญชงไปบ้างแล้ว แต่ต้องติดตามว่าวัตถุดิบจะเพียงพอต่อความต้องการในระยะสั้นหรือไม่ ดังนั้นเชื่อว่ากระบวนการผลิตของบริษัทเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตจะสามารถนำวัตถุดิบมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆน่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในไตรมาส4/64
สำหรับแรงซื้อเข้ามาในหุ้นรับประโยชน์จากการปลดล็อกธีมกัญชง มองว่าส่วนใหญ่มีแรงเก็งกำไรไล่ราคามาแล้ว ซึ่งอาจจะเห็นสัญญาณ Sell On Fact ได้เช่นกันในจังหวะที่บริษัทได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นประเมินว่าใบอนุญาตการนำสารสกัด CBD จากกัญชงมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเครื่องสำอางช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้ ส่วนใบอนุญาตการนำสารสกัด CBD จากกัญชงมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร คาดว่าจะไม่เกินเดือน เม.ย.นี้
"กรณีเกมหุ้นหากไม่มีการไล่ราคาหุ้นมาก่อน เมื่อข่าวเชิงบวกออกมาแล้วราคาหุ้นก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตอบสนองกับตัวแปรดังกล่าว แต่หากมีการไล่ราคากันมาก่อนหน้าแล้วเมื่อข่าวที่เป็นทางการประกาศออกมา ก็ย่อมที่จะถูกแรงขายออกมาเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องมาติดตามหุ้นตัวนั้นจะสามารถสร้างผลกำไรจากธุรกิจกัญชงได้มากน้อยแค่ไหน หากธุรกิจกัญชงประสบความสำเร็จก็ย่อมส่งผลบวกต่อกำไรเป็นปัจจัยผลักดันราคาหุ้นตัวนั้นๆให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไปได้"นายวิจิตร กล่าว
สำหรับหุ้นที่ได้รับประโยชน์ช่วงแรกคือบริษัทที่ประกอบธุรกิจต้นน้ำต่อยอดจากธุรกิจโรงสกัดและมี Lab วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ RBF,DOD ส่วนธุรกิจปลายน้ำที่นำวัตถุดิบจากสารสกัด THC ต่ำกว่า 0.2% นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง ,ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ,ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ,และเครื่องดื่ม เป็นต้น เบื้องต้นประเมินความต้องการตลาดเครื่องดื่มมีโอกาสเติบโตอีกมากและมีมูลค่าตลาดใหญ่ โดยหุ้นที่คาดได้รับประโยชน์ เช่น ICHI ,CBG ,SAPPE เป็นต้น รวมถึงหุ้นที่เกี่ยวกับธุรกิจอาหารเสริม เช่น MEGA ,IP เป็นต้น
สามารถติดตามบทสัมภาษณ์แบบเต็มๆได้ที่ https://youtube.com/c/InfoQuestNews
https://youtu.be/LnHxZwAuY4Y