BGRIM วางเป้า EBITDA ปี 64 แตะ 30% จากเตรียม COD โครงการใหม่-M&A หนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 19, 2021 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

BGRIM วางเป้า EBITDA ปี 64 แตะ 30% จากเตรียม COD โครงการใหม่-M&A หนุน

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางเป้าหมายกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) ในปี 64 เพิ่มเป็น 30% จากปีก่อนคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29% จากการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในโครงการใหม่ๆ เช่น โครงการกังหันลม จ.มุกดาหาร จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 16 เมกะวัตต์, โครงการโซลาร์ รูฟท็อป กำลังการผลิต 15-20 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์ ฟาร์ม ในพื้นที่อู่ตะเภา กำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการโซลาร์ ฟาร์ม ที่ประเทศกัมพูชา ที่ได้ COD ไปในปี 63 ก็จะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปีในปีนี้ด้วย อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) ที่ปรับตัวลดลง

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ มีแผนเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในปีนี้ค่อนข้างมาก แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าในประเทศไทย จำนวน 300-360 เมกะวัตต์ และต่างประเทศรวม 320-400 เมกะวัตต์ และมีแผนที่จะเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) ที่ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิตรวม 1,000-1,200 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลมในประเทศเวียดนามและเกาหลีใต้ รวมกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ ซี่งจะช่วยสนับสนุนให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตในมือเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 3,682 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3,089 เมกะวัตต์ ซึ่งยังคงเป้าขยายการลงทุนไปสู่ 7,200 เมกะวัตต์ภายในปี 68

บริษัทฯ วางงบลงทุนรวมไว้ที่ 45,000-50,000 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุน 50% ของเงินลงทุน เป็นการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศ จำนวน 7 โครงการ กำลังการผลิตรวม 980 เมกะวัตต์ เช่น โครงการในแหลมฉบัง 1 โครงการ , นิคมอมตะนคร 2 โครงการ , มาบตาพุด 2 โครงการ และอ่างทองอีก 2 โครงการ เป็นต้น คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในปี 65 และอีก 50% ใช้รองรับการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในปีนี้

นายฮาราลด์ กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะออกหุ้นกู้จำนวน 5,000-7,000 ล้านบาทในปีนี้ เพื่อรองรับการลงทุนการเข้าซื้อกิจการตามแผนดังกล่าวด้วย จากปัจจุบันที่มีกระแสเงินสดในมือ 20,000 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานอีก 15,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับโครงการโซลาร์ ฟาร์ม ของกองทัพบก บริษัทฯ มีความสนใจในการเข้าร่วมประมูลในโครงการดังกล่าว แต่ปัจจุบันยังต้องรอดูความชัดเจนจากทางหน่วยงานภาครัฐก่อน ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็มีความพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการ โซลาร์ ลอยน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ กับพันธมิตร ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้เอกชนเข้าประมูลได้ในปีนี้

นายฮาราลด์ กล่าวว่า ด้านผลกระทบจากเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมานั้น บริษัทฯ ยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะชะลอแผนการลงทุนไปก่อน เนื่องจากเป็นโครงการขนาดเล็ก ส่วนการชะลอการจ่ายค่าไฟฟ้าของรัฐบาลลาว บริษัทฯ ยืนยันไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากยังคงได้รับเงินในรูปแบบดอลลาร์อยู่ แต่การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ยอมรับว่ามีการชะลอการพัฒนาโครงการพลังงานน้ำ 7 โครงการ รวมกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ เนื่องจากอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์การลงทุนที่เหมาะสม หลังปัจจุบันยังไม่สามารถเดินทางได้ และขณะนี้บริษัทฯ ก็มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าอยู่จำนวนมาก

นอกจากนี้โครงการใหม่ๆ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกันกับพันธมิตรในประเทศมาเลเซีย ในการนำสาหร่ายมาผลิตเป็นน้ำมัน เพื่อใช้ทดแทนวัตถุดิบถ่านหินที่ใช้ในโรงไฟฟ้า เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า รวมถึงมองโอกาสเข้าไปรับงานและลงทุน ในโรงไฟฟ้าที่ใช้สาหร่ายเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต คาดว่าจะได้ข้อสรุปของการศึกษาที่ชัดเจนภายใน 3 เดือนข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ