THAI ตั้งเป้าแผน 10 ปีทำรายได้ 2.88 ล้านลบ.เน้นเพิ่มจุดบินในเอเชีย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 24, 2007 08:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          แหล่งข่าวจากบมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า ภายใต้แผนวิสาหกิจ 10 ปี (ปี 51-60) บริษัทตั้งเป้าสร้างรายได้รวมทั้งสิ้น 2.88 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยมีรายได้ปีละกว่า  2 แสนล้านบาท ด้วยกลยุทธเน้นเพิ่มความถี่และเพิ่มจุดบินในภูมิภาคเอเขียเป็นหลัก โดยเฉพาะตลาดจีนและอินเดีย
แหล่งข่าว กล่าวว่า การเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินในยังประเทศจีนเริ่มมีปัญหาการจราจรทางอากาศแออัด ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างการเจรจาขอเพิ่มเที่ยวบินไปยังจีน
ร.ท.อภินันทน์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าวว่า การบินไทยจะให้ความสำคัญในตลาดจีน และอินเดียเป็นพิเศษ เพราะเป็นเส้นทางที่ทำกำไรได้มาก และมีแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการบินค่อนข้างสูงในอนาคต หลังจากนี้จะต้องจัดทำแผนประจำปี ซึ่งมีรายละเอียดการดำเนินงาน กลยุทธ์การบิน แผนการเงิน และแผนการจัดหาเครื่องบิน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนวิสาหกิจ
"ภายใน 10 ปีเราจะมีรายได้คุ้มค่าอย่างแน่นอน เมื่อเทียบกับการลงทุนกว่า 4 แสนล้านบาท" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าว
สำหรับแผนวิสาหกิจ 10 ปีที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทได้กำหนดการจัดหาเครื่องบินใหม่จำนวน 65 ลำ มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท เพื่อทดแทนเครื่องบินที่ปลดระวาง 47 ลำ ส่วนอีก 18 ลำ เป็นการจัดหามาเพิ่มเติมเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะจัดหาเครื่องบินรุ่นใด
อย่างไรก็ตาม ในปีแรกของแผนการดำเนินงานจะยังไม่เน้นการเพิ่มจุดบินใหม่และยังไม่มีการปลดระวางเครื่องบิน แต่จะวิธีเพิ่มความถี่เส้นทางบิน ทั้งเส้นทางภูมิภาคและเส้นทางระหว่างทวีป
แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวอีกว่า หลังจากการบินไทยรับมอบเครื่องบินแอร์บัส เอ380 ในปี 53 จะช่วยแก้ปัญหาที่ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินในท่าอากาศยานที่มีการจราจรแออัดได้ และน่าจะทำรายได้เพิ่มขึ้น เพราะแอร์บัส เอ380 เป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ สามารถรองรับผู้โดยสารได้กว่า 500 คนในแต่ละเที่ยวบิน
สำหรับการจัดหาเครื่องบินเพื่อทดแทนเครื่องบินเก่า และรองรับการเจริญเติบโตในช่วง 10 ปี จำนวน 65 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินพิสัยไกล รองรับเส้นทางบินระหว่างทวีป ความจุ 300-500 ที่นั่ง จำนวน 16 ลำ เครื่องบินพิสัยปานกลางถึงไกล รองรับเส้นทางบินภูมิภาค ความจุ 250-350 ที่นั่ง จำนวน 29 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ รองรับเส้นทางบินในประเทศและเส้นทางบินภูมิภาค ความจุ 150-250 ที่นั่ง จำนวน 20 ลำ
ส่วนเครื่องบินที่อยู่ในข่ายจะได้รับการจัดหามีทั้งเครื่องบินของบริษัท แอร์บัส อินดัสตรีส์ และบริษัท โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล เช่น เครื่องบินโบอิ้ง 747-8 เครื่องบินโบอิ้ง 787 เครื่องบินโบอิ้ง737-900 เครื่องบินแอร์บัส เอ 321 และเครื่องบินแอร์บัส เอ 350
ด้านนายกฤษณรัตน์ บูรณะสัมฤทธิ์ รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กล่าว ว่า สหภาพฯเห็นด้วยกับแผนการจัดหาเครื่องบินดังกล่าว เพราะปัจจุบันธุรกิจการบินมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น แต่การจัดหาเครื่องบินทั้ง 65 ลำ ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาในเรื่องค่านายหน้าหรือค่าคอมมิชชั่นที่มีการพูดถึงอยู่เสมอ และต้องไม่มีบุคคลใดได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษในการจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ โดยสหภาพฯจะจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ