นายณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้บริษัทดำเนินการแต่งตั้ง บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) เป็นที่ปรึกษาและผู้จัดการกองทรัสต์ในการดูแลและดำเนินการในธุรกรรมการขายศูนย์อินเตอร์ลิ้งค์ ดาต้า เซ็นเตอร์ เข้ากองทรัสต์ เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินที่เจ้าของทรัพย์สินสามารถนำมาใช้จัดโครงสร้างระดมทุนให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเป็นการเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินที่บริษัทได้สร้างขึ้นและมีลูกค้าเข้าใช้บริการแล้ว 100% ทั้งนี้ที่ปรึกษาอยู่ระหว่างการจัดโครงสร้างการลงทุนที่เหมาะสม โดยบริษัทคาดการณ์ว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3-4/64
พร้อมกันนี้ ยังมีมติอนุมัติการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญใหม่ (ITEL-W3) โดยไม่คิดมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายจำนวนไม่เกิน 312.50 ล้านใบสำคัญแสดงสิทธิ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ทั้งหมดเป็นกลยุทธ์ที่จะรักษาประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ขณะที่เตรียมความมั่นคงทางการเงินเพิ่มให้กับบริษัท ด้วยการถนอมเงินกองทุนส่วนผู้ถือหุ้นและหาหนทางที่จะปรับฐานการเงินของบริษัทให้แข็งแกร่ง เพื่อรองรับงานประมูลโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังจะมีในปี 64 นี้ โดย ITEL-W3 นี้จะมีราคาแปลงสิทธิที่ 3.30 บาท กำหนดใช้สิทธิในระยะเวลา 18 เดือน
และจากการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ครั้งที่ 1/2564 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-EGM) ผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติมีการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของบริษัท และการแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 3. ของบริษัท จากเดิม 40 ข้อ เป็น 64 ข้อ เพื่อรองรับธุรกิจในอนาคตของบริษัท
นายณัฐนัย กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า ITELได้ดำเนินการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจ อีกทั้งมุ่งขยายตลาดด้วยการเข้าร่วมเสนองานใหม่ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องเร่งเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมตามงบประมาณปี 2564 พร้อม ๆ กับการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีโครงข่าย มาเสริมให้การทำงานของโซลูชั่น "Smart Security Solution" ให้มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งให้สอดคล้องกับเทรนด์ตลาดในยุคดิจิทัล ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยความเข้าใจของลูกค้าเป็นหลัก (Customization)
ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทฯในปี 63 มีรายได้รวม 2,058.89 ล้านบาท กำไรสุทธิจากการดำเนินงานอยู่ที่ 183.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.51% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 181 ล้านบาท ได้รับปัจจัยหนุนจากงาน Data Service และงานติดตั้งโครงข่ายพื้นฐานโทรคมนาคม หรือ Installation เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการทำงานในรูปแบบ Work From Home ส่งผลให้มีความต้องการใช้โครงข่ายเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการหรือองค์กรต่างๆ มีความต้องการใช้โครงข่ายกันมากขึ้น
อีกทั้งบริษัทฯ ยังสามารถรักษาฐานลูกค้าในปีก่อนไว้ได้เนื่องมาจากประสิทธิภาพของโครงข่ายและเสถียรภาพของการให้บริการที่เหนือกว่าคู่แข่งขันรายอื่นในตลาด ส่งผลให้รายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับรายได้จากการให้บริการโครงข่ายในปี 63 อยู่ที่ 1,111.14 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า 30.90% จากปี 62 ที่มีรายได้ 848.86 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมามีการเริ่มให้บริการงานโครงการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล (USO Phase 2) ขณะที่รายได้จากการให้บริการติดตั้งโครงข่ายในปี 2563 อยู่ที่ 823.97 ล้านบาท
และเมื่อวันที่ 8 ก.พ.64 บริษัทได้เข้าลงนามในสัญญางานจัดซื้อชุดวิทยุไมโครเวฟแบบ IP และอุปกรณ์ประกอบระบบพร้อมติดตั้ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มูลค่าโครงการรวม 78,831,425.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากกรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย คาดว่าจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากการให้บริการต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2/64 เป็นต้นไป พร้อมวางเป้ารายได้ปี 64 ที่ 2,800 ล้านบาท
อีกทั้งบริษัทฯ ยังสามารถทยอยส่งมอบงานโครงการต่างๆ ให้แก่ลูกค้าทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ตามกำหนด ถือเป็นการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 3,688 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ ขณะที่รายได้จากการให้บริการดาต้า เซ็นเตอร์อยู่ที่ 85.42 ล้านบาท