นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทันกำหนดภายในวันที่ 2 มี.ค.64 และจะมีการจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตรับแผนฟื้นฟูในขั้นตอนต่อไป
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ไม่หนักใจกับท่าทีของเจ้าหนี้ เพราะในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาบริษัทได้มีการหารือและเจรจากับเจ้าหนี้ทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหนี้หลัก ได้แก่ เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้ภาครัฐ และ เจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบิน ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ รวมถึงการพูดคุยกับกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และเจ้าหนี้ แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าการบินไทยจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกหรือไม่
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท นายชาญศิลป์ คาดว่า ในครึ่งปีหลังปี 64 จะทยอยกลับมาทำการบินได้ โดยในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้คาดว่าจะกลับทำการบินราว 10-20% ของการให้บริการในช่วงปกติ และในปี 65 จะเพิ่มขึ้นเป็น 30-60% จากนั้นในปี 67-68 จะกลับมาทำการบินได้ 70-80%
"เชื่อว่าใช้เวลาประมาณ 5 ปี กว่าจะกลับมาเหมือนเดิม คนมั่นใจที่จะบิน เราก็เติบโตตามสภาพ และมีแผนการตลาดเข้ามา ...หลังยื่นแผนฟื้นฟู ในวันที่ 2 มี.ค.เราจะเปิดแผน"นายชาญศิลป์ กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทได้ทยอยดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร โดยเฉพาะการปรับลดจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับการแผนธุรกิจ ทั้งนี้ ในปี 62 บริษัทมีจำนวนพนักงาน 2.9 หมื่นคน ซึ่งในปี 63 ปรับลดเหลือ 2 หมื่นคน และในปี 64-65 คาดจำนวนพนักงานจะปรับลดลงเหลือ 1.3-1.5 หมื่นคน
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมพิจารณาแนวทางฟื้นฟูกิจการ THAI ที่ส่วนหนึ่งจะมีกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน และการตัดลดหนี้ (Hair cut)
โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การบินไทยจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เพราะหลังการแปลงหนี้เป็นทุน ก็จะมีการเพิ่มทุนใหม่ จึงต้องมองว่าขณะนี้ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน มีสถานะมั่นคงเพียงพอที่จะเข้ามาถือหุ้น THAI ในส่วนที่จะมีการเพิ่มทุนใหม่ หรือหากเปิดให้กลุ่มทุนในประเทศเข้ามาถือหุ้น ก็อาจทำให้โครงสร้างทุนของการบินไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นภาคเอกชนเต็มตัว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากลุ่มทุนในประเทศสนใจเป็นเจ้าของการบินไทยอยู่แล้ว
แหล่งข่าว กล่าวว่า ในที่สุดการบินไทยจะต้องปรับโครงสร้างองค์กรไม่ให้ใหญ่เทอะทะเหมือนในอดีต จึงต้องยอมรับความเจ็บปวดกันทุกฝ่าย แต่เชื่อมั่นว่าการบินไทยยังมีแนวทางรอดและจะกลับมาผงาดในธุรกิจอีกครั้ง เพราะแบรนด์การบินไทยยังได้รับความเชื่อมั่นในตลาดค่อนข้างมาก
อนึ่ง ณ วันที่ 3 ก.ค.63 กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ THAI สัดส่วน 47.86% จากเดิมถืออยู่ 51.03% ทำให้พ้นจากสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ
ขณะที่รายงานข่าวจาก THAI เปิดเผยอีกว่า ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานพนักงานบริษัท การบินไทย (สร.พบท.) ได้ยื่นขอเรียกร้องต่อบริษัท 20 ข้อ โดยประเด็นสำคัญ คือ ให้การบินไทยหันมาทำการบินในประเทศมากขึ้น พร้อมทั้งยุบหรือควบรวมบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เพราะมีผลประกอบการขาดทุนสะสมมาก และเป็นภาระของบริษัท
นอกจากนั้น ยังมีข้อเรียกร้องอื่น ๆ ได้แก่ ห้ามบริษัทเปิดให้พนักงานเดิมสมัครกลับเข้ามาทำงานใหม่ในตำแหน่งต่างๆ (Re-Launch)ห้ามแยกหน่วยธุรกิจหรือฝ่ายใดๆ เพื่อขายกิจการออกไป การกำหนดโครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่ต้องไม่กระทบสิทธิของพนักงานระดับ 1-7 และต้องไม่ต่ำกว่าราคาอัตราเงินเดือนของกลุ่มธุรกิจการบินในระดับสากล ห้ามมิให้มีการเลิกจ้างพนักงานระดับ 1-7 เพราะจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเลิกจ้างอย่างมาก เป็นต้น