นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดผลประกอบการในปี 64 จะเป็นบวกเมื่อเทียบกับปี 63 เนื่องจากได้ผ่านจุดต่ำสุดในปีก่อนไปแล้ว และธุรกิจในกลุ่มก็มีการเติบโตต่อเนื่อง อย่างธุรกิจถ่านหิน ปีนี้ก็คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณการขายถ่านหินเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 43 ล้านตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 38.8 ล้านตัน ตามความต้องการใช้ถ่านหินที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทฯ ก็ตั้งเป้าปริมาณการขายถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเป็น 23.2 ล้านตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 21.2 ล้านตัน, ประเทศออสเตรเลีย เพิ่มเป็น 13.3 ล้านตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 12.5 ล้านตัน และประเทศจีน เพิ่มเป็น 6.4 ล้านตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 5.8 ล้านตัน ขณะที่ราคาขายถ่านหินปีนี้ก็คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปรับตัวขึ้นจากปีก่อนที่ระดับ 50 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ส่วนธุรกิจก๊าซ ที่อยู่ในประเทศสหรัฐฯ มองว่าความต้องการใช้ก๊าซในสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวได้แม้จะมีโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการก๊าซจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/64 ซึ่งเกือบจะเป็นระดับเดียวกับไตรมาส 1/63 สวนทางกับการผลิตที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้การขุดเจาะในปัจจุบันยังไม่สามารถก้าวตามการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ LNG ในช่วงฤดูหนาวในไตรมาส 1/64 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาก๊าซปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น
ธุรกิจไฟฟ้า ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตรวม 3,309 เมกะวัตต์ อยู่ใน 11 ประเทศ โดยปีนี้จะมีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มเติมอีก 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ยูนิต 2 กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ คาดจะสามารถ COD ได้ในไตรมาส 1/64 และโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าฯ เคเซนนุมะ (Kessenuma) คาด COD ในไตรมาส 3/64, โรงไฟฟ้าฯ ชิราคาวะ (Shirakawa) คาด COD ไตรมาส 4/64 รวมถึงจะ COD โรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ประเทศเวียดนาม เฟส 1 ขนาด 30 เมกะวัตต์ ในไตรมาส 2/64
นอกจากนี้ก็อยู่ระหว่างการทำดิวดิลิเจ้นท์ในธุรกิจไฟฟ้าจำนวนมาก เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ ในประเทศสหรัฐฯ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในไตรมาส 1/64 รวมถึงยังมีความสนใจในพลังงานทดแทน ในประเทศจีน เวียดนาม ญี่ปุ่นด้วย
นางสมฤดี กล่าวว่า บริษัทฯ ได้วางงบลงทุนปี 64 ไว้ที่ 156 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อรองรับการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่เวียดนาม จำนวน 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และที่เหลือจะใช้ในธุรกิจเทคโนโลยี พลังงาน (Energy Technology)
ในปี 2564 นี้ บ้านปูได้กำหนดแผนธุรกิจ 5 ปี ฉบับใหม่ สำหรับปี 2564 ? 2568 ซึ่งประกอบด้วย 3 แกนหลักคือ Acceleration - เร่งสร้างการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ใน 4 ธุรกิจหลัก คือธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจเหมือง ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน Antifragile ? รับมือกับความเปลี่ยนแปลงและวงจรเศรษฐกิจโลกผ่านพอร์ตโซลูชันด้านพลังงานที่ครบวงจร โดยกระจายความเสี่ยง และคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และ Augmentation - ต่อยอดระบบนิเวศทางธุรกิจปัจจุบันและความเชี่ยวชาญในด้านพลังงานเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พอร์ตพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานที่สอดคล้องกับเทรนด์พลังงานในอนาคตได้รวดเร็วและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ภายใต้แผนธุรกิจ 5 ปี สำหรับปี 2564 ? 2568 มีแนวทางการดำเนินการในกลุ่มธุรกิจหลักทั้ง 3 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ทางด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จะมุ่งสร้างประสิทธิภาพสูงสุด โดยผสานพลังร่วมระหว่างแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่ง โดยจะรักษากำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 700 ลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติต่อวัน รวมทั้งการคว้าโอกาสเมื่อสถานการณ์ราคาก๊าซเพิ่มสูงขึ้น ด้วยการประกันความเสี่ยงการลงทุน (Hedging) และสร้างความยืดหยุ่นในงบลงทุน (CAPEX Flexibility) นอกจากนี้ จากการที่บริษัท Oaktree Capital Management L.P. (โอ๊คทรี) บริษัทบริหารกองทุนระดับโลก เข้ามาร่วมลงทุนกับ BKV Corporation ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปู จะช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจต้นน้ำ และต่อยอดการเติบโตของธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ของบริษัทฯ
สำหรับแนวทางในอนาคต จะมองหาโอกาสการลงทุนต่อยอดในธุรกิจกลางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจ สอดรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
ส่วนธุรกิจเหมือง มุ่งเน้นการสร้างกระแสเงินสดในช่วงราคาถ่านหินเพิ่มสูง บริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเพิ่มการจัดซื้อถ่านหินจากผู้ผลิตรายอื่นร่วมด้วย (Coal Trading) เพื่อให้สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าแต่ละราย นอกจากนี้ยังหาโอกาสใช้พื้นที่เหมืองที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเติบโตในธุรกิจเหมืองอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์เทรนด์พลังงานแห่งอนาคต
- กลุ่มธุรกิจผลิตไฟฟ้า เน้นสร้างเสถียรภาพการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าทั้งหมดด้วยดัชนีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ที่สูง และเดินหน้าเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าต่างๆ ตามแผน อีกทั้งมุ่งขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้าในปัจจุบันตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ทั้งในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม สำหรับแนวทางการดำเนินการในอนาคตจะมุ่งเน้นการลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และขยายการลงทุนไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เช่น ในสหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน มุ่งเน้นการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Scale Up) ขยายระบบนิเวศของธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานเพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจจากเทรนด์ด้านพลังงานใหม่ๆ รวมทั้งชูจุดเด่นการเป็นผู้ให้บริการสมาร์ทโซลูชันด้านพลังงานสะอาดที่ฉลาดขึ้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรในธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftops) ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ (Renewable Energy Power Plant) ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System หรือ ESS) ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) ธุรกิจเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และธุรกิจแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading)
นอกจากนี้ ยังเน้นขยายพอร์ตธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน และพัฒนาศักยภาพธุรกิจใหม่ๆ ที่เหมาะกับระบบนิเวศทางธุรกิจของบ้านปู รวมทั้งสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลในการสร้างพลังร่วมระหว่างธุรกิจเดิมกับธุรกิจใหม่ เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานในอนาคต
"ในโลกยุค Never Normal การเดินหน้าสร้างการเติบโตในฐานะผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ที่มุ่งนำเสนอโซลูชันด้านพลังงานครบวงจร จะต้องทันกับตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนเทรนด์พลังงานแห่งโลกอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ก็ต้องยืนหยัดก้าวข้ามความท้าทายที่คาดเดาไม่ได้ 5 ปีต่อจากนี้ เราตั้งเป้าว่า ภายในปี 2568 EBITDA จากธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานของบ้านปู จะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 เพื่อเดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่งในระยะยาวสู่อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน (Smarter Energy for Sustainability)" นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย
สำหรับภาพรวมปี 2563 บ้านปูฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 2,283 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 68,575 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อน 476 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 14,298 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 17 มีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 563 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 16,910 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 20 จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง และรายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 56 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,682 ล้านบาท)