PTT ลุยลงทุน New Energy 22-23% ใน 5 ปีต่อยอดธุรกิจ, SCB เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 25, 2021 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านของธุรกิจเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการนำพาธุรกิจให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และยังเป็นการสร้างการต่อยอดการเติบโตให้กับธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวในเครือของ PTT นั้นได้เริ่มมาในช่วง 2-3 ปีก่อนถึงปัจจุบัน ซึ่งบริษัทและบริษัทในเครือได้เข้าไปศึกษาและลงทุนในธุรกิจใหม่ๆและธุรกิจสตาร์ทอัพมาต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมีองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ และสามารถนำเทคโนโลยีมาพัฒนาศักยภาพของธุรกิจหลักให้ดียิ่งขึ้นได้ อีกทั้งยังการต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ๆของ PTT ที่สามารถสร้างรายได้ใหม่ๆเข้ามาเสริมให้กับธุรกิจหลัก

ขณะที่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของบริษัทยังคงให้ความสำคัญค่อนข้างมาก เพราะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทำให้บริษัทสามารถมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภายใน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้เพิ่มขึ้น และนำเทคโนโลยีที่บริษัทพัฒนาขึ้นมานำมาเปิดให้กับบริการเชิงพาณิชย์กับสาธารณะได้ เช่น การพัฒนาระบบ Could ของบริษัทภายใต้บริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด ที่เตรียมนำเปิดให้บริการในรูปแบบสาธารณะในเร็วนี้ จากปัจจุบันที่ใช้อยู่ภายในเครือ PTT

ด้านการเปลี่ยนแปลงของการใช้พลังงานในอนาคตบริษัทมองว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่การมาของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตจะค่อยๆปรับสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันยังมีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันอยู่ในสัดส่วนที่น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของบริษัทจะค่อยนำพลังงานใหม่ๆเข้ามาเสริมและควบคู่ไปกับธุรกิจหลัก โดยที่การเปลี่ยนผ่านของพลังงานนั้นบริษัทมองว่าก๊าซจะเป็นตัวกลางในการเปลี่ยนผ่านของการใช้พลังงานในยุคเดิมมาสู่การใช้พลังงานในยุคใหม่

สำหรับการลงทุนของ PTT ที่ตั้งงบลงทุน 5 ปี ไว้ที่ 1.03 แสนล้านบาท จะใช้ในการลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy) และธุรกิจใหม่ที่จะมาต่อยอดธุรกิจในสัดส่วน 22-23% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ตั้งไว้ เพื่อนำมาต่อยอดและเริมศักยภาพให้กับธุรกิจหลักของ PTT ผ่านการลงทุนของบริษัทต่างๆในเครือ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงมุ่งเน้นในการพัฒนาด้านพลังงานให้มีความยั่งยืน ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญมาอย่างยาวนาน

นายอารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี ทำให้ธนาคารจำเป็นต้องเข้าไปลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีและธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อทำให้ธนาคารมองเห็นโอกาสในระยะยาวในการต่อยอดและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้จัดตั้งกองทุน Venture Capital เพื่อไปลงทุนเทคโนโลยีและบริษัทสตารืทอัพต่างๆ และได้เริ่มนำความรู้และเทคโนโลยีบางอย่างมาประยุกต์ใช้กับการให้บริการลูกค้าแล้วในปัจจุบัน

โดยที่ธนาคารมองว่าการที่บริษัทต่างๆมีการตั้งกองทุน Venture Capital เพื่อเข้าไปลงทุนในเทคโนโลยีและบริษัทสตาร์อัพต่างๆเป็นสิ่งที่ดี ที่จะเสริมองค์ความรู้และช่วยในการมองเห็นภาพในอนาคตได้ชัดเจนมากขึ้นว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมจะเดินไปในทิศทางใด ทำให้องค์กรสามารถปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่การที่องค์กรสามารถรับรู้และปรับเปลี่ยนแนวทางได้ก่อน ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในอนาคต และทำให้ธุรกิจยังคงไปต่อและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

"ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารที่อยู่มาเป็นร้อยปี ทั้งชีวิตของธนาคารก็อยุ่กับระบบ Analog มาตลอด แม้ว่าจะเป็นธนาคารใหญ่ในประเทศก็ตาม แต่การเติบโตในช่วงหลังก็ถือว่าเติบโตได้ช้ามาก เพราะฐานของธนาคารใหญ่มากแล้ว และเมื่อองค์กรใหญ่จะปรับเปลี่ยนการทำงานก็ค่อนข้างลำบากด้วย เราจึงเห็นความสำคัญถึงการที่เราต้องลงทุนเข้าไปศึกษาเทคโนโลยี เพื่อทำให้เรามีสายตาที่ยาวขึ้น และมีโอกาสนำบางสิ่งที่เราไปร่วมลงทุนมาเสริมให้กับธนาคาร ทำให้ธนาคารมีความสามารถในการเติบโตที่สูงขึ้นได้ และมีความยั่งยืน ซึ่งผมมองว่าบริษัทต่างๆก็น่าจะมีการตั้ง Venture Capital ไว้บ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้กับธุรกิจในการต่อยอด"นายอารักษ์ กล่าว

สำหรับในปัจจุบันธนาคารยังคงเดินหน้าผลักดันดิจิทัลแพลตฟอร์มในคเรือ SCB อย่างต่อเนื่อง ทั้งแอปพลิเคชั่น SCB Easy ซึ่งถือว่ามีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องมาที่ 12 ล้านราย ในสิ้นปีก่อน จากปี 59 ที่มีจำนวนลูกค้าเพียง 2.2 ล้านราย และมีปริมาณการทำธุรกรรมเติบโตถึง 10 เท่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้บริการทำธุรกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และลูกค้าเริ่มรับรู้ถึงความสะดวกในการทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น ส่วนแอปพลิเคชั่น Robinhood ภายใต้การพัฒนาของ SCB10X ก็มีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะยังไม่มากเท่ากับแอปพลิเคชั่นจากผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ในตลาด แต่ถือว่าได้รับการบอมรับจากลูกค้าและร้านค้าพันธมิตรที่เข้าร่วมเป็นอย่างดี โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแอปพลิเคชั่น Robinhood อยู่ที่ 683,000 ราย และมีจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมอยู่ที่ 63,000 ร้านค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ