บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน (ITD089A, ITD099A) ของ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็น “BBB+" จากเดิมที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตที่ปรับลดลงสะท้อนถึงอัตราส่วนกระแสเงินสดต่อภาระหนี้ของบริษัทที่อ่อนแอลงอันเนื่องมาจากภาระหนี้ที่สูงแม้ว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 จะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม อันดับเครดิตยังถูกจำกัดโดยความเสี่ยงของงานก่อสร้างซึ่งโดยทั่วไปในประเทศไทยมีลักษณะสัญญาแบบราคาต่อหน่วย รวมทั้งความผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็สะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ตลอดจนการมีงานในมือที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) จำนวนมาก ความสามารถในการรับงานก่อสร้างได้หลากหลายประเภท และการขยายขอบเขตธุรกิจโดยการรับงานก่อสร้างในต่างประเทศ
แนวโน้มอันดับเครดิตที่ได้รับการปรับเป็น “Stable" หรือ “คงที่" จาก “Negative" หรือ “ลบ" นั้นสะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์จะยังคงสถานะที่แข็งแกร่งทางธุรกิจจากการมีความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจก่อสร้างที่เข้มแข็งต่อไปได้ และยังคาดว่าบริษัทจะคงรักษาอัตรากำไรที่สม่ำเสมอ รวมทั้งรักษาอัตราส่วนหนี้ต่อทุนไม่ให้สูงเกินกว่าระดับปัจจุบัน
ทริสเรทติ้งรายงานว่าผลประกอบการทางการเงินของบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ในปี 2549 ต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ บริษัทรายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 2,146 ล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการตัดค่าใช้จ่ายจำนวน 2,243 ล้านบาทจากการตั้งสำรองเผื่อการขาดทุนจากการก่อสร้าง การตั้งสำรองขาดทุนจากหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การตั้งสำรองขาดทุนจากการจำหน่ายลูกหนี้ และการตั้งสำรองเพิ่มค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ทั้งนี้จากผลกำไรที่อ่อนแอรวมทั้งภาระหนี้จากการลงทุนในโครงการเหมืองแร่โปแตชทำให้ภาระหนี้ของบริษัท (รวมถึงภาระผูกพันที่จะต้องให้เงินกู้ยืมแก่นิติบุคคลเฉพาะกิจ) เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 10,923 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 17,577 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2550 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับลดลงจาก 38.9% ณ สิ้นปี 2548 มาอยู่ที่ 52.5% ในเดือนมิถุนายน 2550 ถึงแม้ว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายในครึ่งแรกของปี 2550 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.6 เท่าจาก 2.0 เท่าในปี 2549 แต่ก็ยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับ 6.2 เท่าในปี 2548
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์เป็นผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สถานะการเป็นผู้นำทางการตลาดของบริษัทมาจากการมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างสูง การมีสัมพันธภาพที่ดีกับลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การประหยัดจากขนาด การมีวัตถุดิบสำคัญที่เพียงพอ การมีเครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้างที่ครบครัน และการมีวิศวกรและแรงงานมีฝีมือเป็นจำนวนมาก ในปี 2549 บริษัทมีรายได้รวม 39,817 ล้านบาท เกือบเป็น 2 เท่าของรายได้รวมของผู้ประกอบการอันดับสอง ธุรกิจของบริษัทแบ่งสายงานออกเป็น 9 ประเภท โดยมีสาขาในต่างประเทศ 2 แห่งคือประเทศไต้หวันและฟิลิปปินส์ และมีบริษัทย่อยต่างประเทศ 3 แห่งในประเทศพม่า อินเดีย และอินโดนีเซีย
ถึงแม้ว่ากลยุทธ์ในการขยายธุรกิจก่อสร้างไปในต่างประเทศจะช่วยให้บริษัทคงรายได้เอาไว้ได้ในช่วงธุรกิจก่อสร้างในประเทศชะลอตัว แต่กลยุทธ์ดังกล่าวก็มีความเสี่ยงในระดับหนึ่งจากการที่บริษัทต้องเข้าไปดำเนินธุรกิจในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2550 บริษัทมีมูลค่าของงานในมือที่ยังไม่ส่งมอบซึ่งไม่รวมโครงการที่ชนะการประมูลอยู่ 53,633 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากสิ้นงวดปี 2549 โดยประมาณ 84% ของงานในมือของบริษัทเป็นงานภาครัฐ และ 71% เป็นโครงการภายในประเทศ บริษัทยังคงเน้นนโยบายในการรับงานของภาครัฐเพื่อลดความเสี่ยงจากหนี้สูญในการชำระค่าก่อสร้างของเจ้าของงาน
แม้ว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะมีผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่ก็มีผู้รับเหมารายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์เบื้องต้นก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการประมูลโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐซึ่งถือได้ว่าเป็นอุปสรรคในระดับสูงที่จะเข้าสู่ธุรกิจ ดังนั้น โอกาสที่ผู้รับเหมารายใหญ่ทั้ง 3 รายจะชนะการประมูลโครงการภาครัฐขนาดใหญ่จึงเป็นไปได้สูงจากการมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับและได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน โครงการระบบขนส่งมวลชนและโครงการก่อสร้างอาคารแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project) น่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทในระยะปานกลางเนื่องจากเป็นโครงการที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังมีผลงานเป็นที่ยอมรับ และมีความพร้อมในด้านเครื่องจักรอยู่แล้ว บริษัทมีแผนจะร่วมประมูลโครงการขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะเปิดประมูลภายในปีนี้อีกหลายโครงการทั้งในประเทศไทยและอินเดีย
ในส่วนของผลการดำเนินงานนั้น บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่ผันผวนซึ่งเกิดจากลักษณะของสัญญารับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งจากสถานะของโครงการในมือ และความหลากหลายของโครงการ เนื่องจากงานก่อสร้างส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นสัญญาประเภทราคาต่อหน่วย ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่ต้นทุนการก่อสร้างจะสูงกว่าที่ประมาณการไว้ โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนและมีระยะเวลาก่อสร้างนาน
นอกจากนั้น นโยบายบัญชีที่รับรู้รายได้ตามงานที่สร้างเสร็จทำให้บริษัทต้องมีการประเมินต้นทุนโครงการอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ เมื่อบริษัทมีข้อมูลที่เพียงพอและเชื่อได้ว่าต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้กำหนดไว้ บริษัทต้องปรับประมาณการต้นทุนใหม่ในงบกำไรขาดทุนในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งอาจส่งผลทำให้กำไรมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้รายงานไว้ก่อนหน้านี้ บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานลดลงจาก 7.2% ในปี 2548 เหลือ 3.3% ในปี 2549 โดยในปี 2549 บริษัทพบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะมีต้นทุนการก่อสร้างของโครงการเขื่อนโคล (Kol Dam) ในอินเดียสูงกว่าที่ประมาณการไว้ โดยคาดว่าจะสูงขึ้นจากต้นทุนที่ประเมินไว้ประมาณ 1,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการก่อสร้างที่ล่าช้าออกไปถึง 2 ปี และข้อโต้แย้งในส่วนของงานตามคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ในปี 2549 บริษัทได้ตั้งสำรองเผื่อขาดทุนจากการก่อสร้างไว้ 706 ล้านบาทและได้บันทึกเป็นค่าก่อสร้างจำนวน 394 ล้านบาท แม้บริษัทจะเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากผู้ว่าจ้างเนื่องจากเป็นความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้าง แต่ก็ไม่มีความแน่นอนว่าจะได้รับคืน อย่างไรตาม คาดว่าความเสียหายจากโครงการเขื่อนโคลไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทเนื่องจากโครงการดังกล่าวมีมูลค่างานคงเหลือในสัดส่วนเพียง 5% ของมูลค่างานในมือที่ยังไม่ส่งมอบของบริษัทที่มีจำนวน 53,633 ล้านบาท ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2550 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานดีขึ้นอย่างมากที่ระดับ 9.13% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากผลประกอบการของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมค้าที่ดีขึ้นซึ่งช่วยชดเชยอัตรากำไรที่อ่อนแอของงานรับเหมาก่อสร้าง
ทริสเรทติ้งคาดว่าการชะลอตัวของการก่อสร้างภาคเอกชนรวมทั้งความล่าช้าของการลงทุนของภาครัฐจะส่งผลให้ภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างยังคงรุนแรงอยู่ สิ่งท้าทายสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างคือการควบคุมต้นทุน รวมทั้งการมีวินัยในการประมูลงานใหม่โดยเน้นที่ผลกำไรมากกว่าปริมาณงาน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีมุมมองในด้านบวกเกี่ยวกับการที่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ตัดสินใจไม่รับงานก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยประเภทตึกสูงและอาคารสำนักงาน รวมทั้งการก่อสร้างถนน ซึ่งที่ผ่านมาโครงการประเภทนี้มีอัตรากำไรที่ต่ำหรือขาดทุนในบางโครงการ
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--